รอง ผบช.น. เผย คดีตึก สตง.ถล่ม สอบแล้วกว่า 100 ปาก รอผลตรวจ-เอกสาร จ่อเอาผิด ‘ปลอมลายเซ็น’
วันนี้ (23 เมษายน 2568) พลตำรวจตรี นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เปิดเผยความคืบหน้าการสอบสวนคดีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พังถล่ม ที่ สน.บางซื่อ โดยระบุว่าคณะพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้เกี่ยวข้องไปแล้วกว่า 100 ปาก และกำลังเร่งรัดผลการตรวจสอบต่างๆ เพื่อพิจารณาดำเนินคดีกับผู้รับผิดชอบ
รอง ผบช.น. ให้ข้อมูลว่า ผู้ที่สอบปากคำไปแล้วประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ สตง. และบริษัทที่เกี่ยวข้อง 56 ราย พยานในที่เกิดเหตุ 51 ราย ผู้บาดเจ็บ 7 ราย และญาติผู้เสียชีวิต 35 คน โดยการสอบสวนยังคงดำเนินต่อไป รวมถึงการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม เช่น ชิ้นส่วนเหล็กและปูน ซึ่งได้ส่งไปตรวจวิเคราะห์อีกชุดแล้ว
พลตำรวจตรี นพศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบหลักฐานชุดเดิม รวมถึงผลวิเคราะห์แบบแปลนอาคารจากสภาวิศวกรและวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ และผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้ง นอกจากนี้ ทาง สตง. ยังส่งมอบเอกสารสำคัญไม่ครบถ้วน ทั้งที่เกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง การตรวจรับงาน 22 งวด และสัญญาที่มีการแก้ไข ซึ่งทางตำรวจได้เร่งรัดไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว หลังจากนายกรัฐมนตรีได้กำชับไปยัง สตง. ก่อนหน้านี้
ในส่วนของคดีปลอมแปลงลายมือชื่อ ที่ทาง สตง. ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อ 3 บริษัทผู้ควบคุมงานไปก่อนหน้านี้ รอง ผบช.น. เปิดเผยว่า วันนี้เจ้าหน้าที่ สตง. ได้เข้าให้ปากคำเพิ่มเติม และจะนำส่งเอกสารส่วนที่เหลือ โดยเฉพาะเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลงลายมือชื่อของวิศวกร เข้ามาในช่วงบ่าย
สำหรับกรณี นายพิมล อายุ 85 ปี ซึ่งปรากฏชื่อเป็นผู้ออกแบบอาคาร พลตำรวจตรี นพศิลป์ ระบุว่า นายพิมล ได้เข้าให้ปากคำเมื่อวานนี้ โดยอ้างว่าเป็นเพียงที่ปรึกษาโครงการ ได้รับค่าจ้างครั้งเดียว 150,000 บาท สำหรับการให้คำปรึกษาด้านการออกแบบ และได้ลงนามในฐานะที่ปรึกษาเท่านั้น หลังจากนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการอื่นๆ อีก ซึ่งเป็นหน้าที่ของวิศวกรหลัก ขณะเดียวกันตำรวจกำลังตรวจสอบรายชื่อวิศวกรทุกคนที่เกี่ยวข้องว่าได้รับใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่
รอง ผบช.น. ย้ำว่า หากผลการตรวจสอบและพยานหลักฐานที่รวบรวมได้มีความชัดเจนและเชื่อมโยงถึงบุคคลหรือบริษัทใด จะดำเนินคดีทั้งหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น การพิจารณาออกหมายจับจะเกิดขึ้นหลังได้รับผลการตรวจสอบที่สมบูรณ์แล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนทำงานร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรมโยธาธิการและผังเมือง และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาล เพื่อให้ได้ข้อมูลครบทุกมิติ พร้อมยืนยันว่าการสอบสวนเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการแทรกแซง และทุกฝ่ายให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี