CRIME

ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ อย. ทลายแหล่งผลิตยาหยอดเห็บหมัดเถื่อน

ตำรวจสอบสวนกลาง โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จับกุมกวาดล้างโรงงานผลิตยารักษาเห็บหมัดเถื่อนในพื้นที่เขตลาดกระบัง พร้อมตรวจยึดของกลางกว่า 40,450 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 500,000 บาท

สืบเนื่องจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก อย.ให้ตรวจสอบสถานที่ผลิตยาสำหรับหยดกำจัดเห็บหมัดสุนัขและแมวโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งหากนำมาใช้อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์เลี้ยงให้มีอายุขัยเฉลี่ยน้อยลง เกิดภาวะช็อก หมดสติ หรืออาจเสียชีวิต อีกทั้งอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง หรือแพ้ ในคนได้ เจ้าหน้าที่จึงสืบสวนจนทราบว่ามีการลักลอบผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสัตว์ปลอมโดยไม่ได้รับอนุญาต ในพื้นที่แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. นำหมายค้นเข้าตรวจค้นสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 จุด ได้แก่

จุดที่ 1 สถานที่จัดเก็บสินค้าบ้านพักในพื้นที่แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อฟีติก (ปลอม) จำนวน 300 ขวด

จุดที่ 2 สถานที่ผลิต และจำหน่าย บ้านพักในพื้นที่แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัขและแมวยี่ห้อต่าง ๆ และวัตถุดิบที่ใช้ผลิต รวมทั้งฉลาก บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ประกอบด้วย

1.ผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อฟีติก (ปลอม) 805 ขวด

2.ผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดแมว ยี่ห้อ Front 3-1 ฉลากสีฟ้า 295 ขวด

3.ผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อ Front 3-1 ฉลากสีเขียวอ่อน 34 ขวด ฉลากสีส้ม 48 ขวด

4.ผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อ Detick 35 ขวด

5.ผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อ Alprocide 48 ขวด

6.ยารับประทานกำจัดเห็บหมัดสำหรับสุนัข ยี่ห้อ En-Dex 8000 ฉลากระบุ ตัวยาสำคัญ Ivermectin (ยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ) 360 กล่อง

7.ผลิตภัณฑ์กำจัดปลวก ยี่ห้อ เอธีนา 25 (ฟิโพรนิล 25%) 14 ขวด

8.ผลิตภัณฑ์กำจัดปลวก ยี่ห้อ เอธีนา 25 (ฟิโพรนิล 25%) ผสมแอลกอฮอล์ 2 ขวด

9.สติ๊กเกอร์ยี่ห้อฟีติก, ซีอุส, Front 3 in 1 และ Detick 11,900 ชิ้น

นอกจากนี้ ยังตรวจพบอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้เป็นองค์ประกอบในการบรรจุภัณฑ์ ประกอบด้วย กล่องบรรจุภัณฑ์ 3,085 ชิ้น ฝาครอบชุดยาเห็บหมัด 14,650 ชิ้น แอลกอฮอล์ 1 แกลอน ไซริ้ง 90 ชิ้น จุกใน 2,500 ชิ้น ฝาอลูมิเนียม 10,000 ชิ้น จุกยาสีเทา 10,000 ชิ้น และขวดแก้วใส 1,000 ชิ้น

ทั้งนี้ รวมตรวจค้น 2 จุด ตรวจยึดวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ปลอม 1,105 ขวด วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายสาธารณสุข (วอส.) 460 ขวด ยารับประทานกำจัดเห็บหมัดสำหรับสุนัข ยี่ห้อ En-Dex 8000 (ยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ) 360 กล่อง ผลิตภัณฑ์กำจัดปลวกที่ใช้เป็นส่วนผสม ฉลาก บรรจุภัณฑ์ ฝาอลูมิเนียม และขวดบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ผลิต 38,825 ชิ้น รวมทั้งสิ้น 40,450 ชิ้น

จากการสืบสวนทราบว่ากลุ่มเครือข่ายดังกล่าว ปลอมผลิตภัณฑ์โดยซื้อส่วนประกอบบางชนิดมาบรรจุเอง และแพ็คลงในบรรจุภัณฑ์ภายในบ้านพักย่านทับยาว เขตลาดกระบัง ให้มีลักษณะเหมือนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. อีกทั้งยังลักลอบผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัขและแมวยี่ห้ออื่น ๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยนำผลิตภัณฑ์กำจัดปลวกมาผสมกับแอลกอฮอล์กรอกใส่ภาชนะ ไม่มีการวัดปริมาณส่วนประกอบอย่างมีมาตรฐาน สถานที่ผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ ขายผ่านช่องทางออนไลน์ และร้านเพ็ทช็อป มียอดขายเดือนละ 4,000-5,000 ชิ้น ทำมาแล้ว 3 ปี

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ยาและวัตถุอันตรายที่ตรวจยึด เจ้าหน้าที่ อย. ส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันผลตรวจวิเคราะห์อีกครั้งเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอันประกอบด้วย

1.พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 กรณียารับประทานเพื่อกำจัดเห็บหมัดผู้จำหน่ายจะมีความผิดฐาน “ขายยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา และขายยาไม่ได้รับอนุญาต”

2.พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ฐาน “ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต, ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ปลอม, ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ขึ้นทะเบียน และขายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง โดยเป็นการกระทำของผู้ผลิต”

Related Posts

Send this to a friend