CRIME

‘ดีอี’ ผนึกตำรวจไซเบอร์ จับมิจฉาชีพออนไลน์

‘ดีอี’ โชว์ปฏิบัติการ Cyber Guardian ผนึก ‘ตำรวจไซเบอร์’ จับมิจฉาชีพออนไลน์ ทลายเครือข่ายพนันออนไลน์ แก๊งหลอกส่งสินค้าไม่ตรงปก อายัดบัญชีแก๊งหลอกโหลดแอปดูดเงิน

วันนี้ (18 ธ.ค. 66) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ดีอี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒนครบัญชา ผบช.สอท. เร่งแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะกรณีแก๊งคอลเซนเตอร์และการพนันออนไลน์ ผลักดันการทำงานของศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจุด One Stop Service แก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ได้ร่วมกันปฏิบัติการ Cyber Guardian เป็นการบุกตรวจค้นจับกุมผู้กระทำผิดจำนวน 4 กรณี

1.กรณีจับกุมแก๊งหลอกโหลดแอปดูดเงิน อายัดเงินได้ทัน 9.6 แสนบาทคืนให้กับผู้เสียหาย จากกรณีคนร้ายได้โทรศัพท์มาหลอกลวงผู้เสียหายโดยอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลางที่จะมาประสานการรับเงินบําเหน็จบํานาญจากรัฐบาลเดือนละ 2 ครั้ง โดยคนร้ายจะให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนในแอปพลิเคชันไลน์ แล้วมีการให้ทําตามขั้นตอนที่คนร้ายบอก ปรากฏว่าโทรศัพท์เครื่องค้างไม่สามารถปิดเครื่องหรือทําอะไรได้ ผู้เสียหายจึงรีบเดินทางไปที่ธนาคารและพบว่าเงินในบัญชีธนาคาร 2 บัญชีถูกโอนไปยังบัญชีคนร้าย 5 ครั้ง

2.กรณีจับกุมเครือข่ายพนันออนไลน์ Slotkub พบเงินหมุนเวียนกว่า 200 ล้านบาท จำนวน 3 เว็บไซต์ ได้แก่ slotkub789.com, slotkub88.com และ like365.com ซึ่งเครือข่ายดังกล่าว มีสมาชิกผู้เล่นรวมกันกว่า 100,000 คน มียอดเงินหมุนเวียนกว่า 200 ล้านบาทต่อปี จากการสืบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า ทั้ง 3 เว็บไซต์ดังกล่าวนั้นเป็นเครือข่ายเดียวกัน จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานจนสามารถขออำนาจศาลออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด รวมจำนวน 10 ราย โดยมีทั้งเจ้าของเว็บไซต์ โปรแกรมเมอร์ เจ้าหน้าที่ดูแลการเงิน และบัญชีม้า

นอกจากนี้ยังได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาลและเข้าตรวจค้นเป้าหมาย 6 จุดในเช้ามืดของวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยจับกุมผู้กระทําความผิดที่เกี่ยวข้อง สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 4 ราย พร้อมตรวจยึดของกลางและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องได้หลายรายการ มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท

3.กรณีบุกค้นโกดังใหญ่ย่านบางบอน ขยายผลจากกรณีจับตัวการส่งพัสดุ หลอกเก็บเงินปลายทางโดยไม่ได้มีการสั่งซื้อ และส่งสินค้าที่ไม่ตรงปกเพื่อหลอกเก็บเงินปลายทาง ซึ่งตำรวจไซเบอร์ได้เร่งกวาดล้างจับกุมผู้กระทำผิด โดยสืบเนื่องจาก ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 ได้รับร้องเรียนจากการประชาชนเป็นจำนวนมาก จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนสอบสวนและนำกำลังเข้าจับกุมนายอนุศาสน์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี ซึ่งได้ใช้แพลตฟอร์ม TikTok จำนวน 4 บัญชีในการขายสินค้า มีการส่งพัสดุในรอบ 1 เดือน ประมาณ 8,000 ชิ้น และมีพัสดุตีกลับประมาณ 47 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังมียอดระงับการเก็บเงินปลายทางกว่า 8 แสนบาท

จึงได้นำตัวพร้อมของกลางส่งดำเนินคดี ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ได้นำกำลังพร้อมหมายค้นศาลแขวงบางบอน เข้าตรวจค้นโกดังสินค้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ในซอย เอกชัย 109 แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร พบนางสาวกัญญารัตน์ อายุ 24 ปี ชาว จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ดูแล โดยพบของกลางสินค้านำเข้าจากประเทศจีนที่ไม่มีมาตรฐานกว่า 30 รายการ รวมทั้งสิ้นกว่า 4 พันชิ้น อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำหอม ครีมทาผิว และสินค้าอื่นๆ อีกหลายรายการ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการตรวจยึดของกลางทั้งหมดส่งดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมจะทำการขยายผลเพิ่มเติมจากหลักฐานที่ได้จากปฏิบัติการดังกล่าวต่อไป

4.กรณีจับแก๊งรับจ้างตัดต่อภาพลามกอนาจารผ่านกลุ่มลับแอป VK โดยใช้ชื่อบัญชี ‘รบกวนตัดออกให้ที’ ซึ่งมีผู้ติดตามประมาณ 1.2 แสนราย นอกจากนี้ ยังมีการโพสต์ข้อความรับจ้างตัดต่อภาพผู้อื่นให้เป็นภาพโป๊เปลือย หรือรับเข้าเป็นสมัครชิกกลุ่มวีไอพีชื่อ ‘ชุมชนช่างตัดเสื้อ’ รวมทั้งเปิดให้เช่าใช้งานโปรแกรม AI สำหรับตัดต่อภาพโป๊เปลือย โดยรับชําระเงินผ่านระบบทรูมันนี่ วอลเล็ท ในรูปแบบของอั่งเปา จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน สามารถนําไปสู่การออกหมายจับผู้ต้องหาได้จํานวน 2 ราย ซึ่งเป็นผู้รับผลประโยชน์จากการร่วมกันกระทําความผิดดังกล่าว

โดยในครั้งนี้สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ครบทั้ง 2 ราย พร้อมตรวจยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ใช้ในการกระทําความผิด ซึ่งการตัดต่อเป็นภาพลามกและนําไปโพสต์ขายในสื่อสังคมออนไลน์เป็นการกระทําความผิดหลายข้อหา อาทิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 (1) และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์14(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับและมาตรา 16 นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูล คอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปีปรับไม่เกิน 200,000 บาท

“รัฐบาลโดยกระทรวงดีอี และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน มีความมุ่งมั่นที่จะกวาดล้างอาชอาญกรรมทางเทคโนโลยีทุกรูปแบบ เพื่อลดความเสียหายและลดความเสี่ยงให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน รวมทั้งหามาตรการใหม่ๆ เพื่อยับยั้งการทำงานของมิจฉาชีพ โดยบูรณาการการทํางานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันทีที่ได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย หากพี่น้องประชาชนมีข้อสงสัย สามารถโทรปรึกษาสายด่วน AOC 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีกล่าว

Related Posts

Send this to a friend