ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ อย. แถลงผลปฏิบัติการทลายโกดังทุนจีน ขายผลิตภัณฑ์ปลอม
วันนี้ (16 พ.ย. 66) ตำรวจสอบสวนกลาง บก.ปคบ. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงผลการทลายโกดังเก็บผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ ยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ และเซ็กส์ทอย โดยลวงขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตรวจยึดของกลาง 33 รายการ รวม 6,744 ชิ้น มูลค่ากว่า 2,000,000 บาท
สืบเนื่องจาก กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับการร้องเรียนข้อมูลจากบริษัท ทีเอ็นเค บิวตี้ จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กำจัดขน คอสมิค แฮร์ รีมูฟเวอร์ สเปรย์ พลัส แจ้งว่ามีการปลอมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในแพลตฟอร์มออนไลน์จำนวนมาก
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงสืบสวนจนทราบสถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และกลุ่มผู้กระทำผิด โดยพบว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นนายทุนชาวจีน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการเปิดร้านผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม เครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้ง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ โฆษณาขายสินค้า และรับออเดอร์สินค้าอยู่ที่ประเทศจีน จากนั้นส่งข้อมูลการจัดส่งสินค้าให้กับพนักงานในประเทศไทยเพื่อบรรจุและจัดส่ง มีผู้สั่งการในประเทศไทยซึ่งเป็นชาวจีนทำหน้าที่ดูแลสั่งการอีกทางหนึ่ง
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงร่วมกับ เจ้าหน้าที่ อย. นำหมายค้นของศาลแขวงธนบุรี เข้าตรวจค้นโกดังแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ซอยเทียนทะเล แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร พบ น.ส.จารุณี พนักงานชาวไทย และ Ms.Chunchen ชาวจีน แสดงตัวเป็นเจ้าของสถานที่และกิจการดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดของกลางรวมทั้งหมด 33 รายการ จำนวน 6,744 ชิ้น มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม ยี่ห้อคอสมิค แฮร์ รีมูฟเวอร์ สเปรย์ พลัส จำนวน 3,100 ชิ้น
2.ผลิตภัณฑ์สบู่พฤกษา นกแก้ว สีเขียว (ต้องสงสัยว่าปลอม) จำนวน 15 ชิ้น
3.ผลิตภัณฑ์สบู่พฤกษา นกแก้ว สีชมพู (ต้องสงสัยว่าปลอม) จำนวน 5 ชิ้น
4.เครื่องสำอางไม่แสดงฉลากภาษาไทย จำนวน 15 รายการ (2,262 ชิ้น)
5.ยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ จำนวน 2 รายการ
6.ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ จำนวน 11 รายการ
7.เซ็กส์ทอย จำนวน 210 ชิ้น
ทั้งนี้ ในส่วนตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึด พนักงานสอบสวนจะส่งตรวจพิสูจน์กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดอันประกอบด้วย
1.พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ฐาน “ขายเครื่องสำอางปลอม”
2.พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ฐาน “ขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา”
3.พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ฐาน “ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับ”
4.พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ฐาน “มีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร”
5.กรณีการจำหน่ายเซ็กส์ทอย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 มาตรา 287 ฐาน “ขายวัตถุหรือสิ่งของลามก”