ชำแหละสาเหตุอาคาร สตง.ถล่ม พบจุดเริ่มต้นอาคารถล่มอาจมาจาก ‘ปล่องลิฟต์’

ผ่านมา 2 สัปดาห์ หลังเหตุอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568
สาเหตุที่อาคารสูง 30 ชั้น ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มพังราบคาบกองลงกับพื้นอย่างสิ้นเชิง เพียงตึกเดียวในกรุงเทพมหานคร ทั้งที่อยู่ห่างจากจุดแผ่นดินไหว กว่า 1,000 กม. กลายเป็นสถิติโลกที่เป็นคำถาม ทั้งทางวิศวกร แผ่นดินไหว และทางสังคมว่าเพราะเหตุใด
หาจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตึกถล่ม
“จุดตั้งต้นต้องหาว่าเริ่มถล่มที่จุดไหน เป็นจิ๊กซอว์ตัวแรก เพราะลักษณะของการพังทลายเป็นการพังราบคาบอย่างสิ้นเชิง จากวิดีโอคลิปที่ตึกถล่ม มองได้หลายมุมว่าเสาข้างบนพังก่อน แต่ถ้าดูจากรูปอื่นจะเห็นว่าเสาชั้นล่างพังก่อน แต่มีอีกมุมพบว่า ปล่องลิฟต์พังก่อน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเคยเชื่อกันว่าปล่องลิฟต์เป็นโครงสร้างที่แข็งที่สุด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตึก สตง. ได้ตั้งคำถามในทางวิศวกรรมว่าปล่องลิฟต์เป็นอย่างไร”
ข้อค้นพบล่าสุดของ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ที่ตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุของอาคารอย่างน้อย 3 แห่งที่เสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวในกรุงเทพมหานคร พบว่าปล่องลิฟต์พัง การหาสาเหตุอาคาร สตง.ถล่ม จึงอาจต้องไปหาข้อเท็จจริงในส่วนนี้ด้วย
ตึกถล่มไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่อาจมาจากความผิดพลาดในการออกแบบ
การชี้แจงครั้งแรกของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในที่ประชุมคณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส. พรรคประชาชน เป็นประธาน และมีนายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และนายชาญยุทธ เชี่ยวชาญวัฒนา รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อสงสัยหลายประเด็น ที่ทำให้นายสุรเชษฐ์สรุปได้ว่า ความเป็นไปได้ของตึกถล่มไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่อาจมาจากความผิดพลาดในการออกแบบ
“ต้องมีอะไรผิดพลาดที่ตึกนี้ แต่สาเหตุที่ทำให้ผิดพลาด ยังสรุปไม่ได้ แต่สังคมส่วนหนึ่ง จากที่ผมประเมิน ส่วนใหญ่ไปตำหนิในเรื่องคุณภาพเหล็ก เป็นความบกพร่องอย่างหนึ่งหรือไม่ ตามที่รัฐมนตรีอุตสาหกรรมไปปราบ ต้องแยกว่าอาจไม่ใช่สาเหตุ เหล็กที่ต้องได้มาตรฐานเป็นเรื่องที่สมควรทำ แต่ไม่ใช่ว่าคุณภาพเหล็กทำให้ตึกนี้ถล่ม เพราะการใส่เหล็กถูกแบบไหม สำคัญกว่าคุณภาพเหล็ก สาเหตุเหล็กน่าจะเกี่ยวกับแรงเฉือนและคอนกรีตด้วยหรือไม่”
Shear Wall หรือผนังคอนกรีตเสริมเหล็กรับแรงเฉือน และปล่องลิฟต์
สิ่งที่ถูกตั้งข้อสังเกตจากการชี้แจงในที่ประชุม กมธ. พบว่า Shear Wall หรือผนังคอนกรีตเสริมเหล็กรับแรงเฉือน และปล่องลิฟต์ที่ถล่มมาก่อน อาจเป็นสาเหตุที่สำคัญมาก เพราะปล่องลิฟต์เป็นเหมือนกระดูกสันหลัง ที่มีส่วนต่อการรับแรงแผ่นดินไหว ซึ่งนายสุรเชษฐ์บอกว่าตรงกับข้อสันนิษฐานในทางวิศวกรรม และกำลังเป็นประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการสืบสวนสาเหตุอาคาร สตง.ถล่ม ที่รัฐบาลตั้งขึ้น กำลังมุ่งตรวจสอบไปที่การออกแบบ!!
“จากที่ สตง. ชี้แจง มีการแก้แบบเกิดขึ้นจริง ทำให้ Shear Wall หรือผนังคอนกรีตเสริมเหล็กรับแรงเฉือนเล็กลงจริง โดยอ้างว่าแบบก่อสร้างกับแบบสถาปัตยกรรมขัดแย้งกัน โดยอ้างว่าถามผู้ออกแบบแล้วว่า ถ้าลด Shear Wall ทำได้ จึงสรุปยากว่าจะเป็นที่แบบ ผู้ออกแบบ ผู้รับเหมาก่อสร้าง หรือผู้คุมงาน ซึ่งปล่องลิฟต์มีโอกาสสูง ต้องเอาไปทำแบบจำลอง นอกจากสาเหตุหลัก ทาง สตง. ควรจะขยายผลด้วย ไม่ว่าจะข้อกล่าวหาทุจริต คุณภาพเหล็ก หรือแอบเซ็นต์แบบหรือไม่ มีการตรวจสอบแบบหรือไม่ และการก่อสร้างครบหรือไม่ สาเหตุต้องไปติดตามกันต่อไป”
นี่คือประเด็นที่ต้องหาคำตอบจาก สตง. บริษัทผู้ออกแบบ บ.ผู้ควบคุมงาน บ.รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งตามขั้นตอนการประกวดราคา การเซ็นต์สัญญา การก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2563-2568 จนถึงวันที่อาคารถล่ม พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงแบบ การแก้ไขสัญญา และความพยายามในการยกเลิกสัญญา เมื่อต้นปี 2568
มีความพยายามในการบอกเลิกสัญญา
นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 คณะกรรมการตรวจรับพัสดุของ สตง. มีมติเป็นเอกฉันท์บอกเลิกสัญญากับผู้รับจ้างก่อสร้าง กิจการร่วมค้า ITD-CREC หรือ บ. อิตาเลียนไทย และ บ.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ประเทศไทย เนื่องจากก่อสร้างล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน จากสัญญาที่เดิมวงเงิน 2,136 ล้านบาท มีการแก้ไขเพิ่มเติมวงเงิน 2,131 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายล่วงหน้า 320 ล้านบาท และเบิกจ่ายไป 22 งวด 646 ล้านบาท รวม 966 ล้านบาท
“แต่ ณ วันที่ 17 มีนาคม 2566 ถ้าทำงานถูกต้องตามแผนงานต้องได้ 80.77% แต่ได้งานเพียง 33.70% ทำให้กรรมการบริหารสัญญาของ สตง. มีมติเอกฉันท์ขอให้บอกเลิกสัญญา โดยได้เสนอไปยังผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว แต่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินพ้นวาระรอคณะใหม่ จึงยังไม่มีการพิจารณา”
จากวันที่ 15 ม.ค. 68 หากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้พิจารณาบอกเลิกสัญญา เป็นไปได้ว่าในวันที่ 28 มี.ค. 68 อาจไม่มีแรงงานที่ทำงานอยู่ระหว่างเกิดเหตุแผ่นดินไหว จนทำให้มีผู้ประสบเหตุถึง 103 คน และพบว่าเสียชีวิตไปแล้ว 27 ราย ยังค้นหา 67 ราย (ณ วันที่ 11 เม.ย. 68)
แม้ประเด็นการบอกเลิกสัญญา ไม่ได้ถูกหยิบยกมาตั้งข้อสังเกตมากนัก เพราะทาง สตง. แจ้งว่ามาจากการทำงานล่าช้า แต่นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ก็ยอมรับว่าเพราะความพยายามในการบอกเลิกสัญญา ทำให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างเกณฑ์คนมาเร่งทำงานเป็นจำนวนมาก ตามที่ปรากฏในวันเกิดเหตุ!!
การสืบสวนสาเหตุอาคาร สตง.ถล่ม จึงไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกิจการร่วมค้า ITD-CREC แต่ต้องตามหา บ.ผู้ออกแบบและผู้คุมงานด้วย!
“ถ้าผมจะสร้างบ้านเพื่อให้บ้านล้มทับคนของผม 2,000 กว่าคน ผมต้องอำมหิตเบอร์ไหน ถ้าการออกแบบนี้เกิดจากความเผอเรอหรือประมาท ท่านกำลังจะฆ่าคน 2,400 คน วิศวกรท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ แผ่นดินไหวไม่เคยฆ่าคน คนออกแบบนี่แหละเป็นคนฆ่าคน”
นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตั้งคำถามแบบชี้เป้าต้องไปดูที่การออกแบบด้วยหรือไม่ และจากการให้สัมภาษณ์ล่าสุดของนายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ระบุว่า สตง. ไม่ใช่สถาปนิก ไม่ใช่วิศวกร ต้องจ้างคนมาทำแทน!!
“ผมอยากยกตัวอย่างว่า ถ้าเราอยากสร้างอาคารสำนักงานใหม่ จึงได้จ้างผู้ออกแบบอาคารของเรา เพราะเราไม่มีความรู้ บริษัทที่จ้างออกแบบเสนอแบบ เป็นวิธีการที่เป็นราชการ เมื่อได้แบบทั้งหมด ก็เอาแบบไปจ้างผู้ควบคุมงาน ให้วิศวกรไปคุมอาคารให้เรา จึงได้ผู้คุมงาน จึงได้ไปประกาศว่ามีบริษัทไหนมาก่อสร้างให้เรา มีบริษัทมาเสนอก็เลือกบริษัทนั้นมาสร้างให้เรา มีบริษัทรับเหมามาก่อสร้างให้ มีบริษัทควบคุมงานให้ แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นว่าบริษัทกำลังก่อสร้างแล้วพัง ถ้าเราเป็นเจ้าของเงิน มีคนมาคุมงานแทนเรา แล้วตึกพัง เราจะทำยังไง”
นี่เป็นการตั้งคำถามจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่า สตง. ต้องการให้ใครบ้างรับผิดชอบเรื่องนี้!
แน่นอนว่า สตง. เป็นเจ้าของโครงการที่ได้รับงบประมาณแผ่นดิน จากการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 งบประมาณผูกพันข้ามปี 2563-2569 วงเงิน 2,560 ล้านบาท จากนั้น สตง. ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ บนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ 3 งาน บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
ขั้นตอนการดำเนินโครงการ
1.เริ่มต้นในปี 2561 สตง. ได้ประกาศประกวดราคาหาผู้ออกแบบ ซึ่งได้บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ออกแบบด้วยวงเงิน 73 ล้านบาท
2.เมื่อได้รับอนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี วงเงิน 2,560 ล้านบาท เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 สตง. ได้จัดหาผู้รับจ้างก่อสร้าง ได้ผู้ชนะการประกวดราคา คือ กิจการร่วมค้า ITD-CREC (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายต่ำสุดด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท ตามเลขที่สัญญาจ้าง 0021/2567 ลงวันที่ 23 พ.ย. 2563 และมีการแก้ไขรวม 9 ฉบับ โดยวงเงินตามสัญญาที่แก้ไขเพิ่มเติม 2,131 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน เริ่มก่อสร้าง 15 มกราคม 2564 กำหนดเสร็จ 31 ธันวาคม 2566 มีการขอขยายเวลาก่อสร้าง 2 ครั้ง ถึงวันที่ 3 มิ.ย. 2567 และถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2568 กำหนดค่าปรับร้อยละ 0 ถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2568 จากการก่อสร้างที่ต้องครบกำหนดวันที่ 17 มี.ค. 2566 ทางกิจการร่วมค้า ITD-CREC ได้เบิกจ่ายเงินมาแล้ว 22 งวด เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 966.80 ล้านบาท เป็นค่าจ้างล่วงหน้า 320 ล้านบาท และค่างวด 1-22 จำนวน 646 ล้านบาท
3.ระหว่างการก่อสร้าง ทาง สตง. ได้ว่าจ้างกิจการร่วมค้า PCW มาเป็นผู้ควบคุมงาน ด้วยวงเงินจ้าง 74.6 ล้านบาท โดยทาง สตง. ระบุมีการจัดการผ่านการบริหารสัญญาก่อสร้าง ที่ระบุว่าทำตามกฎหมายก่อสร้างและการรองรับแผ่นดินไหว ซึ่งผู้ออกแบบก่อสร้าง ผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้าง ได้ยืนยันมาโดยตลอดว่าทำถูกต้อง ทั้งนี้ในการชี้แจงครั้งแรกของ สตง. เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 68 ทาง สตง. ยืนยันว่าไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบให้มีขนาดเล็กลง โดยระบุว่าผู้ออกแบบจัดทำตามวิชาชีพวิศวกรรม โดยเสาสี่เหลี่ยมด้านหน้าอาคารสูงสามชั้น มีขนาดกว้างคูณยาว 1.40 x 1.40 เมตร ส่วนชั้น 29 ถึงดาดฟ้าเป็นเสากลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.80 เมตร เพื่อรองรับหลังคาตึก
4.สตง. อ้างว่า ผู้มีบทบาทสำคัญนอกจากผู้ออกแบบ คือ ผู้ควบคุมงาน ซึ่งหมายถึง กิจการร่วมค้า PKW
- แล้วใครบ้างต้องรับผิดชอบอาคาร สตง.ถล่ม!*
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ นอกจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นเจ้าของโครงการแล้ว การตามหาผู้ร่วมรับผิดชอบ ที่ประกอบด้วย
- สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.
- ผู้ออกแบบ: บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด
- ผู้ควบคุมงาน: กิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหายคอลซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนชัลแทนส์ จำกัด)
- ผู้รับจ้างก่อสร้าง: กิจการร่วมค้า ITD-CREC (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด)
สำหรับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด – CREC no 10 ที่ถูกตั้งคำถามเรื่องมีนอมินีเป็นคนไทย และความไม่โปร่งใสที่เข้ามารับงานของราชการ ที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังตรวจสอบว่ามีความผิดฮั้วประมูลและนอมินีหรือไม่นั้น ในขั้นตอนการก่อสร้างกิจการร่วมค้า ITD-CREC ได้มีการว่าจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มารับเหมาช่วงในการก่อสร้าง ประมาณ 15 บริษัท ที่ปรากฏ
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพังถล่มของอาคาร สตง. อาจมีแรงสั่นสะเทือนมาจากแผ่นดินไหว แต่การออกแบบ การก่อสร้าง การควบคุมงาน การจัดซื้ออุปกรณ์การก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นเหล็กหรือปูน รวมถึงการก่อสร้างเสาและปล่องลิฟต์ ที่กำลังเป็นคำถามสำคัญในทางวิศวกรรม ล้วนเป็นคำถามที่กำลังมีการค้นหาคำตอบ ผ่านการตรวจสอบไม่ต่ำกว่า 4 คณะ ทั้งคณะกรรมการของรัฐบาล กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือในทางคดีของกองบัญชาการตำรวจนครบาล และการตรวจสอบผ่านคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร
ข้อเท็จจริงที่จะมาจากการสืบสวนสอบสวนทั้งหมด จึงต้องมีการชำแหละโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. ตั้งแต่การออกแบบ จนถึงความพยายามบอกเลิกสัญญา เพียง 2 เดือนก่อนตึกถล่ม!
รายงาน: ฐปณีย์ เอียดศรีไชย