CRIME

สถานการณ์ เด็กหายเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 6 ปี ชี้ เด็กช่วงวัยรุ่น ถูกหลอกร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์มากขึ้น

มูลนิธิกระจกเงา – นิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ แถลงสถานการณ์ เด็กหายเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 6 ปี ชี้ เด็กช่วงวัยรุ่น ถูกหลอกร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์มากขึ้น สวมบทบาทเป็นตำรวจ – พนักงานธนาคาร เชื่อ ยังมีเด็กจำนวนมากถูกลวง ส่วนสถานการ์เด็กหายปี 67 พบ 314 ราย ขณะที่ญาติตามหาเด็กหาย เข้าสู่โครงการ DNA-PROKIDS แม่น้องจีจี้ หลั่งน้ำตา หวังลูกยังมีชีวิตอยู่ แม้หาย 14 ปี

วันนี้ (10 ม.ค. 68) เวลา 10:00 น. ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ มูลนิธิกระจกเงา นำโดย นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ร่วมกับ พล.ต.ต.สุพิไชย ลิ่มศิวะวงศ์ ผบก.นต.รพ.ตร. พ.ต.อ.หญิง หทัยชนก บุญญฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานตรวจเลือดชีวเคมีฯ นต.รพ.ตร. และ พ.ต.อ.วิรุฬห์ ศุภสิงห์ศิริปรีชา นายแพทย์ (สบ 5) กลุ่มงานนิติพยาธิ นต.รพ.ตร. แถลงข่าวถึงสถานการณ์เด็กหายประจำปี และดีเอ็นเอโปรคิดส์ การใช้นิติวิทยาศาสตร์ในการตามหาเด็กหาย

นายเอกลักษณ์ เปิดเผยถึงสถิติรับแจ้งเด็กหาย ของมูลนิธิกระจกเงา ปี 2567 รวมทั้งสิ้น 314 ราย ซึ่งถือว่าเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 6 ปี โดยสูงกว่าปี 2566 ถึง 6% สาเหตุหลักกว่า 72% หรือ 227 ราย คือเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน โดยเด็กที่อายุน้อยที่สุดที่หนีออกจากบ้านมีอายุเพียง 7 ขวบ รองลงมาคือ กลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการช้า มีความพิการทางสติปัญญา หรือป่วยทางจิตเวช สูญหายกว่า 9% หรือ 29 ราย และมีเด็กถูกลักพาตัว 5 รายในปีที่ผ่านมา

ส่วนช่วงอายุเฉลี่ยของเด็กที่หายออกจากบ้าน มากที่สุดคือช่วง อายุ 11-15 ปี รวม 171 ราย รองลงมาคืออายุ 16-18 ปี รวม 103 ราย และช่วงแรกเกิดถึงสิบขวบ รวม 40 ราย โดยสถิติการพบตัวเด็กประมาณ 85%

อย่างไรก็ตาม ในห้วงปลายปี 2566-2567 ที่ผ่านมามีเด็กและเยาวชน ถูกชักชวน หลงเชื่อ และถูกหลอกไปทำงานแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ ในพื้นที่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน กว่า 11 ราย โดยอายุน้อยที่สุดที่ถูกหลอกไปทำงานมีอายุเพียง 14 ปี ลักษณะของการล่อลวงชักชวนไปทำงาน ส่วนใหญ่จะหลงเชื่อคำเชิญชวนในโลกออนไลน์ ลักษณะประกาศรับสมัครงานแอดมินเวบไซต์ รายได้ดี ภายหลังจึงพบว่าถูกหลอกไปทำงานแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ และบางรายติดต่อเพื่อให้ครอบครัวส่งเงินเพื่อไถ่ตัวกลับบ้านอีกด้วย

ทั้งนี้ ใน 11 คนตอนนี้ ได้ตัวกลับมาแล้ว 9 คน มี 1 คนติดคุกอยู่ เนื่องจากว่าในกระบวนการของงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะมีลักษณะของการเข้าถึงยาเสพติดด้วย ส่วนอีก 1 คน มีความประสงค์ที่จะอยู่ต่อ

ส่วนกระบวนการหลอกเด็กไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้นจะมีเป้าหมายหลักมุ่งไปที่เยาวชนอายุ 15-25 ปี ที่ส่วนใหญ่หลุดจากระบบการศึกษา และอยากมีรายได้ บางส่วนผ่านการชักชวนโดยเพื่อนหรือมีบุคคลที่รู้จักชักจูงให้ไปทำงาน ทั้งรู้และไม่รู้ว่าต้องไปทำอะไร บางรายถูกหลอกไปและให้ญาติจ่ายค่าไถ่ แต่ไม่คืนเด็ก

สำหรับพฤติการณ์ เริ่มต้นจะมีการประกาศรับสมัครงานแอดมินเว็บไซต์ต่างๆ ทำให้เด็กที่อยากมีรายได้หลงเชื่อได้ง่ายหลงเชื่อได้ง่าย จากนั้นก็จะมีการพาตัวเด็กพาไปผ่านช่องทางธรรมชาติไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อไปทำงานเป็นหนึ่งในกระบวนการแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ โดยจะให้เด็กปลอมเป็นตำรวจบ้าง และนายธนาคารบ้าง ซึ่งจะมีการให้เด็กอ่านตามสคริปต์ โดยวันแรกเป็นการอ่านท่องจำสคริปต์ วันที่สองให้ฟังคนที่โทรไปหลอก และวันที่สามให้เด็กเริ่มทำงาน

จากกรณีตัวอย่าง เด็กเล่าว่า เดือนแรกเด็กไม่ประสบความสำเร็จ มาเริ่มหลอกคนได้ในช่วงเดือนที่ 2-3 เดือนแรกได้เป็นเงินเดือน เดือนที่สองไม่ได้เงินเดือน ดังนั้นเดือนที่สองจำเป็นจะต้องหลอกคนให้ได้ โดยได้รับส่วนแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ ในช่วงที่เด็กได้เงินค่าคอมมิชชั่นเป็นช่วงที่เด็กหลอกคนหลายรายได้ 200,000 บาท และได้เงินส่วนแบ่งมาอีก 10,000 บาท

ซึ่งเด็กไปหลอกพระ จนพระมีการโอนเงินมาหลายครั้ง แต่เด็กรู้สึกผิดบาปเนื่องจากเป็นการหลอกแบบวิดีโอคอล จึงไม่อยากทำต่อ หลังจากนั้นก็เริ่มถูกกดดันทำให้เด็กหาช่องทางในการติดต่อหาพี่ชาย และแจ้งเรื่องมาที่มูลนิธิกระจกเงา จึงได้ใช้เวลา 2 วันในการพาตัวกลับมา

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า 11 คนนี้ ถูกทรมานร่างกายด้วยหรือไม่ นายเอกลักษณ์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการถูกกดดันทางคำพูดให้ทำตามที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ต้องการ แต่จะถูกทำร้ายร่างกายก็ต่อเมื่อเด็กอยากกลับ หรือว่าถ้ารู้ว่ามีการติดต่อญาติขอความช่วยเหลือ ทั้งนี้ตนเชื่อว่าจะมีเด็กถูกหลอกในลักษณะนี้มากยิ่งขึ้น

ด้าน พล.ต.ต.สุพิไชย กล่าวว่า โครงการดีเอ็นเอโปรคิดส์ ว่า สถาบันนิติเวชวิทยา เป็นศูนย์ตรวจสารพันธุกรรมเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ในเด็ก โดยการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ในเด็ก ให้กลับคืนสู่ครอบครัวที่แท้จริง ซึ่งโครงการดีเอ็นเอโปรคิดส์ เป็นโครงการระหว่างประเทศเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ การเก็บสารพันธุกรรมของพ่อแม่เด็กที่อาจถูกลักพาตัวหรือล่อลวงไป โดยที่พ่อแม่แจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่าบุตรหาย ถ้าพนักงานสอบสวนทำหนังสือส่งตัวมาก็จะตรวจสารพันธุกรรมของพ่อแม่แล้วเก็บข้อมูลสารพันธุกรรมไว้ใน “ระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอสถาบันนิติเวชวิทยา”

ต่อมาเมื่อมีการพบเด็กที่ไม่อาจระบุตัวบุคคลได้ ซึ่งสงสัยว่าถูกลักพาตัวหรือถูกล่อลวงไป จะทำการตรวจสารพันธุกรรมของเด็ก และจะบันทึกข้อมูลสารพันธุกรรมลงไปตรวจสอบใน “ระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอสถาบันนิติเวชวิทยา” ซึ่งโปรแกรมตรวจสอบจะประมวลผลว่าตรงกับสารพันธุกรรมของพ่อแม่เด็กที่เก็บไว้ในระบบหรือไม่ หากพบจะรายงานผลว่าเป็นสายสัมพันธ์ผู้ใด หากยังไม่พบก็จะยังเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลเพื่อรอให้โปรแกรมตรวจสอบเปรียบเทียบกับข้อมูลที่อาจมีการแจ้งเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง

ดังนั้น การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของพ่อแม่จะเป็นประโยชน์ต่อการตามหาเด็กหาย หรือเด็กที่อาจตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ จึงกลายเป็นอีกความหวังที่จะช่วยเหลือเด็ก ที่สูญหายออกจากบ้าน อย่างไรก็ตาม สำหรับพ่อแม่ที่ลูกหาย สามารถติดต่อหน่วยงานภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิกระจกเงา ในการประสานงานกับพนักงานสอบสวน เพื่อทำเรื่องส่งตัวพ่อแม่เด็กมา ตรวจดีเอ็นเอที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อมาเก็บข้อมูลสารพันธุกรรมไว้ใน “ระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอสถาบันนิติเวช” ต่อไป

พ.ต.อ.หญิง หทัยชนก กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางสถาบันนิติเวชวิทยา มีการเก็บฐานข้อมูลของเหยื่อค้ามนุษย์เน้นในเด็กมาตลอด โดยได้ฐานข้อมูลของเด็กที่พัดหลงหรือเด็กเร่ร่อนส่งมาจากตำรวจ แต่ปีนี้เรามีการเพิ่มช่องทางของเด็กเหล่านี้ที่อาจจะอยู่ในขอบข่ายของการค้ามนุษย์ โดยข้อมูลจะถูกส่งมาที่ศูนย์พึ่งได้ของโรงพยาบาลตำรวจ ทำให้ปีนี้ทางสถาบันนิติเวชจึงร่วมมือกับศูนย์พึ่งได้ของโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อทำการตรวจดีเอ็นเอพ่อแม่ของเด็กเก็บไว้ โดยจะมีการประสานพ่อแม่ของเด็กผ่านทางมูลนิธิกระจกเงาที่เป็นสื่อกลางในการอำนวยความสะดวก ซึ่งขณะนี้ มีฐานข้อมูลเด็กที่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ประมาณ 2,000 ราย และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันนี้มูลนิธิกระจกเงา ได้พามารดาของเด็กหายจำนวน 3 รายที่หายตัวไปนานหลายปี มาเก็บสารพันธุกรรมในโครงการดีเอ็นเอโปรคิดส์ เพื่อเป็นความหวังในการตามหาลูก โดยทั้งสามครอบครัวประกอบด้วย มารดาของน้องจีจี้ หรือด.ญ.จีรภัทร ทองชุม หายตัวไปนาน 15 ปี , มารดาของน้องดาหรือด.ญ.พัทธวรรณ อินทร์สุข หายตัวไป 11 ปี และมารดาของน้องอัษ ด.ช.เทอญพงษ์ หายตัวไปนาน 6 ปี

นายเอกลักษณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับวันเด็กที่จะถึงนี้ สถาบันนิติเวชวิทยาและมูลนิธิกระจกเงา ขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ปกครอง เพื่อป้องกันเด็กสูญหายพลัดหลงในงานวันเด็ก 1.ผู้ปกครองต้องจดจำรูปพรรณของลูก ส่วนสูง น้ำหนัก ตำหนิ สีเสื้อผ้า 2.ให้ถ่ายรูปล่าสุดพร้อมชุดที่สวมใส่ของลูกก่อนออกจากบ้าน 3.ทำป้ายชื่อ เบอร์ติดต่อครอบครัวติดตัวเด็กไว้ 4.สอนลูก หากพลัดหลง นัดเจอกันจุดไหน ให้ใครช่วยเหลือ 5.สอนลูก หากตกอยู่ในอันตราย มีคนจูงมือไป พร้อมตะโกนให้คนช่วย ทั้งนี้ หากเกิดการสูญหาย หากค้นหาในบริเวณงานแล้วยังไม่พบตัว ให้โทรแจ้ง 191 หรือ แจ้งความเด็กหายได้ทันทีโดยไม่ต้องรอครบ 24 ชม.

น.ส.มณี ไพสาลี มารดาของ จีรภัทร ทองชุม หรือน้องจีจี้ เล่าทั้งน้ำตาว่า น้องโดนลักพาตัวไปจนตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 14 แล้ว (หายตอนอายุ 9 ปี) โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในระหว่างพาน้องไปขายพวงมาลัยที่ปั้มน้ำมันแก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งตนอยู่กับลูกแค่ช่วงระยะเวลาเพียงแปปเดียว พอมาอีกทีน้องหายไปแล้ว จึงได้ไปแจ้งความกับตำรวจ แต่กลับถูกปฏิเสธ เพราะยังไม่ครบ 24 ชั่วโมง เราจึงต้องหาที่แจ้งทุกหน่วยงาน และมีมูลนิธิกระจกเงาเข้ามาช่วยตั้งแต่เริ่มต้นจนวันนี้

น.ส.มณี ยินยันว่า ยังคงมีความหวังที่จะได้เจอลูกสาว และเชื่อว่า น้องจีจี้ยังมีชีวิตอยู่ แม้ว่าจะผ่านมา 14 ปี ซึ่งตอนนี้น้องจีจี้น่าจะอายุประมาณ 24 ปี หากน้องดูข่าวนี้อยู่ อยากจะบอกว่า “แม่ยังไม่ได้ไปไหน แม่ยังอยู่ที่สระบุรีที่เดิม ยังรอน้องอยู่ที่เดิม”

ทั้งนี้ น.ส.มณี ได้ฝากถึงครอบครัวที่มีบุตรหลานเป็นเด็กว่า เรื่องเด็กหายไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เราควรจะต้องระมัดระวังหากไม่ระวังก็จะเป็นแบบตน ถ้าใครจะน้องรบกวนมายังครอบครัวหรือมูลนิธิกระจกเงา เพื่อให้น้องได้กลับบ้าน

ขณะที่ น.ส.นิรมล อินทร์สุข มารดาของ พัทธวรรณ อินทร์สุข หรือน้องดา ที่หายตัวไปตอนอายุ 4 ปี กล่าวน้ำเสียงสั่นเครือว่า ลูกได้หายไปจากหมู่บ้าน จ.สระแก้ว โดยพบเบาะแสครั้งสุดท้าย คือคนแก่ในหมูบ้านเล่าว่า ลูกขึ้นไปหลับบนหลังรถสีขาวคันหนึ่ง ก่อนขับออกไป ซึ่งตลอด 11 ปีที่หายไป ได้ติดตามเบาะแสทุกช่องทาง แต่มูลนิธิกระจกเงาได้ช่วยเหลือ และยังไม่พบของลูกตน ซึ่งตนก็ได้แต่ภาวนาให้มีชีวิตอยู่

น.ส.นิรมล กล่าวทั้งน้ำตาว่า ยังอยากเจอลูกอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะวันนี้เป็นวันเด็กด้วยอยากพาลูกไปเที่ยว ภาพจำสุดท้ายคือน้องยังกินนมจากอกของตนเอง และคลานออกมาจากอก และทุกวันนี้ตนยังบอกกับลูกอีก 6 คนว่า ให้จดจำรูปร่างหน้าตาให้แม่น เพราะเป็นน้องสาว หากเจอที่ไหนให้พากลับบ้าน โดยสังเกตจากตำหนิรอยแผลเป็นจากน้ำร้อนลวกที่เอวด้านหลังข้างขวา และปานรูปหัวใจสีเขียวกลางหลัง

Related Posts

Send this to a friend