CRIME

‘บุหรี่เถื่อน’ ระบาด วอนรัฐเร่งแก้ไขให้เด็ดขาด หลังปรับราคาขึ้นไม่ถึงปี

ตามที่รัฐบาลประกาศปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 64 ทำให้ราคาบุหรี่ที่เสียภาษีอย่างถูกกฎหมายปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ทำให้ราคาของ ‘บุหรี่เถื่อน’ หรือ ‘บุหรี่หนีภาษี’ ซึ่งถูกกว่าประมาณ 20 – 40 บาทต่อซองกลายเป็นที่สนใจของนักสูบ

หลายเสียงของผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาสูบมองว่า ‘บุหรี่เถื่อน’ หรือ ‘บุหรี่หนีภาษี’ เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข หากปล่อยให้เรื้อรัง ท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาสูบที่มีมูลค่าสูงถึงปีละ 200,000 ล้านบาท และเป็นแหล่งรายได้จากการเก็บภาษีเข้ารัฐถึงปีละ 60,000 ล้านบาท 

“บุหรี่เถื่อนหนีภาษีเข้ามาตามชายแดน โดยเฉพาะทางภาคใต้มีการนำเข้ามาขายกันเป็นปกติ ที่ผ่านมามีการร้องเรียนไปหลายหน่วยงาน บุหรี่หนีภาษีเป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว โดยเฉพาะช่วงก่อนที่จะปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ในปี 2560 มีการลักลอบนำเข้ามาเป็นขบวนการ มาถึงตอนนี้ที่ราคาขายบุหรี่แพงขึ้น บุหรี่หนีภาษีก็ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะราคาถูกกว่ามาก และสามารถหาซื้อได้ง่าย ในฐานะผู้ค้าอย่างถูกกฎหมาย โดนบุหรี่หนีภาษีมาแย่งส่วนแบ่งตลาดไปถึง 29% ไม่เป็นธรรมกับผู้ค้าที่เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งได้ไปหารือกับคณะกรรมาธิการหลายๆ  คณะ รวมทั้งกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ทุกฝ่ายทราบว่ามีปัญหานี้ แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการแก้ปัญหา อยากให้ภาครัฐจริงใจในการแก้ไขปัญหาบุหรี่หนีภาษี ขอให้ดำเนินการอย่างจริงจังขยายผลไปถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลังเพราะหากปัญหายังคงวนเวียนอยู่แบบเดิม รัฐจะเป็นผู้เสียรายได้ในที่สุด” นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าว

วราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้ายาสูบไทย

ด้าน นายนพดล หาญธนสาร รองผู้ว่าการด้านบริหาร รักษาการผู้ว่าการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) กล่าวว่า “สำหรับความเดือดร้อนของชาวไร่ยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ยาสูบลดลง เพราะต้องลดการรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรลดลงตามไปด้วย  ยสท.ได้ให้คำแนะนำแก่ชาวไร่ยาสูบในการหันมาปลูกพืชอื่นทดแทนเพื่อให้มีรายได้ โดยส่งเสริมให้ชาวไร่ยาสูบรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อปลูกกัญชง กัญชา ตามนโยบายรัฐบาล ขณะนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินการ คาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในอีก 3–5 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของ ยสท.อย่างมาก แต่ ยสท.ก็เร่งปรับตัว ลดต้นทุนทุกช่องทางที่ทำได้ นอกจากนี้ต้องยอมรับว่าการก่อตั้งโรงงานยาสูบนั้น เพื่อให้ไทยผลิตยาสูบป้อนตลาดไทยและต่างประเทศ และรักษาส่วนแบ่งบุหรี่ไทยและบุหรี่นอก หากไทยไม่มีโรงงานยาสูบ ก็จะมีแต่บุหรี่นอกในไทย”

นายนริศ ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “สินค้าหนีภาษี นอกจากจะทำลายผู้ค้าท้องถิ่นแล้ว ยังทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมอีกด้วย เรียกได้ว่าทำลายระบบทั้งหมด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการที่เข้มข้นในการจัดการกับผู้ลักลอบทำผิดกฎหมาย นอกจากการปราบปรามผู้กระทำความผิดแล้ว อีกทางหนึ่งที่ควรทำควบคู่กันไปคือการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคไม่ให้สนับสนุนสินค้าที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ในส่วนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐเองต้องไม่ร่วมกระทำความผิด หรือ รู้เห็นและปล่อยผ่านให้เกิดการลักลอบสินค้าหนีภาษี ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเองเมื่อกระทำความผิดควรได้รับโทษมากกว่าสองเท่า เรื่องนี้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรร่วมผลักดันและดำเนินการอย่างจริงจัง”

ข้อมูลจากกรมสรรพสามิตเผยว่าได้ดำเนินการปราบปรามบุหรี่เถื่อนหรือบุหรี่หนีภาษีและบุหรี่ปลอมอย่างเข้มข้น ภายใต้แผนเฉพาะกิจปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต ระดมเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจทั่วประเทศ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบปราบปรามตามพื้นที่เป้าหมาย ตามแนวชายแดนที่คาดว่าจะกระทำผิด การดำเนินการทั้งหมดเพื่อสร้างความเป็นธรรม โปร่งใส และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เสียภาษีโดยสุจริต และเป็นมาตรการเสริมทางอ้อมในการดูแลสุขภาพของผู้บริโภค โดยในปีงบประมาณ2564 (1 ตุลาคม 63 – 30 กันยายน 64) กรมฯ สามารถจับกุมและปราบปรามคดีบุหรี่หนีภาษี จำนวน6868 คดี คิดเป็นค่าปรับกว่า 262 ล้านบาท

Related Posts

Send this to a friend