CRIME

ผบช.สอท. ยัน 119 ผู้ต้องหาคนไทยจากปอยเปต มีความผิดทั้งหมด

แบ่งเป็น 100 คน ผิดอาชญากรรมข้ามชาติ ส่วนอีก 19 คน มีความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พบ บอสชาวจีน แปลงเงินเป็นสกุลดิจิทัลนำออกนอกประเทศ เร่งหารือ ก.ล.ต. อุดช่องโหว่

วันนี้ (4 มี.ค. 68) ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบปากคำผู้ต้องหาชาวไทยที่เกี่ยวข้องกับขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ถูกจับกุมในเมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา จำนวน 93 รายว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนผู้ต้องหา ซึ่งมีการสอบไปแล้วประมาณกว่า 20 ปาก โดยทั้ง 20 คนให้การรับสารภาพ และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไปในทิศทางเดียวกันว่า สถานที่ตึกในย่านพลูตาสวนเป็นที่ทำการแก๊งคอลเซ็นเตอร์จริง และมีการหลอกลวงหลายรูปแบบ

นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลเพิ่มว่ามีการหลอกลวงลักษณะข่มขู่ และมีการหลอกให้รักและลงทุนอีกด้วย ซึ่งคำให้การสอดคล้องกับข้อกล่าวหาของผู้เสียหายที่อยู่ในระบบไทยโปลิสออนไลน์ และยังสอดคล้องกับผลการสอบสวนของทางการกัมพูชาที่พบว่าคนเหล่านี้สมัครใจไปทำงานส่งมาให้กับทางการไทย โดยทางตำรวจจะทำการตรวจพิสูจน์โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ติดตัวกับผู้ต้องหามาด้วย

ส่วนมาตรฐานการคัดกรองว่าเป็นผู้ต้องหาหรือเหยื่อ พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานในพื้นที่ โดยมีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานหลัก ส่วนตำรวจไซเบอร์จะสืบสวนเฉพาะคดีอาญาจนนำไปสู่การได้พยานหลักฐาน และออกหมายจับ

สำหรับข้อหาที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาตินั้น จะต้องเป็นกลุ่มคนอย่างน้อย 3 คนขึ้นไป และครั้งนี้เฉพาะคนไทยอย่างเดียวนับร้อยคน และจะต้องเป็นความผิดตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไป ซึ่งกรณีนี้มีการกระทำความผิดเพราะที่ตั้งอยู่ในกัมพูชา และโทรศัพท์หรือแชทมาหลอกคนไทยในประเทศไทย รวมถึงความผิดในข้อหาของไทยที่มีอัตราโทษตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป ทั้งข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, อั้งยี้ซ่องโจร และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ทั้งหมดจึงเข้าข่ายการเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

ส่วนแผนภูมิขององค์กรนี้ เบื้องต้นตำรวจสามารถออกหมายจับชาวจีนได้ 2 ราย ที่เชื่อว่าเป็นระดับบอสสั่งการ เพราะคนไทย 119 คนเป็นเพียงพนักงาน ไม่ได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารงาน โดยในการสืบสวนพบว่า มีระดับผู้บริหารจำนวน 20 คน ที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งตำรวจอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน และตรวจสอบทางเส้นทางการเงิน

อีกทั้ง ยังพบว่า เมื่อได้เงินจากการหลอกเหยื่อแล้วจะโอนไปซื้อเงินสกุลดิจิทัล และนำออกนอกประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยไปแล้ว และวันนี้ได้หารือกับทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. โดยเฉพาะแนวทางสืบสวนว่าเส้นทางการเงินของสกุลดิจิทัลว่ามีปลายทางไปอยู่ที่ใด

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ระบุอีกว่า จากการสอบปากคำพบว่ากลุ่มขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะมีรายได้ต่อคน คนละ 20,000 บาท ส่วนค่าคอมมิชชั่นได้ 5% แต่เมื่อข้ามแดนไปจะต้องมีค่าดำเนินการที่ต้องติดหนี้กับทางบริษัทคนละ 70,000 บาท ดังนั้นหากจะไม่ทำงานจะต้องหักเงินมาใช้หนี้ก่อน หรือทำงานเพื่อให้หักรายเดือน เดือนละ 10,000 บาท ซึ่งเชื่อว่ากลอุบายนี้คนที่ข้ามไปทำงานจะต้องทำงานอย่างน้อย 7 เดือน

นอกจากนี้ การสอบสวน ตำรวจยังพบว่า 15 คนไทย ที่ยังไม่ออกหมายจับ ผลการคัดกรองไม่ได้ระบุว่าเป็นเหยื่อ แต่สมัครใจไปทำงานเว็บพนัน จึงยังไม่เข้าข่ายความผิดเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ส่วนจะมีความผิดที่เกี่ยวพันกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์อีก 100 คนหรือไม่ อยู่ระหว่างการขยายผล แต่เบื้องต้นพบว่ามีความผิดเข้าออกประเทศโดยผิดกฎหมาย ซึ่งตำรวจ ตม.ได้มีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว

ส่วนอีก 2 คนที่เป็นเยาวชนเข้าข่ายความผิดร่วมในขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์นี้ จะมีรูปแบบมาตรการดำเนินคดีอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา

ขณะที่การสอบปากคำคาดว่า อย่างช้าสุดจะเสร็จสิ้นในวันพรุ่งนี้เช้า (5 มี.ค. 68) และอาจจะมีความชัดเจนของคนที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี โดยพรุ่งนี้เวลา 09:30 น. พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ จะมาแถลงข่าวอีกครั้ง

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat