คำฟ้องของอัยการในคดี “พ.ต.ท.บรรยิน อุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา “ระบุพฤติการณ์สรุปได้ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 7 ม.ค. – 5 ก.พ. 2563 จำเลยทั้งหกได้ร่วมกันสมคบคิด วางแผน แบ่งหน้าที่กันทำ ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย เอาตัวนายวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ พี่ชายของ น.ส.พนิดา ศกุนตะประเสริฐ ผู้เสียหาย ไปหน่วงเหนี่ยวกักขัง และใช้ความปลอดภัยในชีวิตของนายวีรชัยต่อรองเรียกค่าไถ่ ข่มขืนใจ น.ส.พนิดา ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่ตามที่จำเลยทั้งหกต้องการ คือให้ผู้เสียหายมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวก ในคดีอาญาหมายเลขดำ 305/2561 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่ง น.ส.พนิดา เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน พร้อมกับให้มีคำสั่งคืนเงินหุ้นทั้งหมดในคดีแก่จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจะฆ่านายวีรชัยแล้วทำลายศพ โดยใช้ไฟเผาด้วยยางรถยนต์ ราดด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง อันเป็นการสมคบกันกระทำผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อปกปิดความผิดของตน หลีกเลี่ยงให้พ้นอาญา และความผิดอื่นรวม 9 ข้อหา อันเป็นความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
จำเลยทั้งหกวางแผนโดยใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ที่มีการนำป้ายทะเบียนคันอื่นมาติดป้ายทะเบียน โดยใช้โทรศัพท์หมายเลขที่เปิดใหม่ ใช้ชื่อบุคคลอื่นในการเปิดหมายเลข เป็นยานพาหนะและเครื่องมือติดต่อสื่อสารติดตามความเคลื่อนไหวของนายวีรชัยหลายครั้ง จนทราบว่าผู้ตายจะโดยสารรถสาธารณะจากบ้านพักมาส่งผู้เสียหายเพื่อทำงานตอนเช้าที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ และตอนเย็นก็จะมารับผู้เสียหายกลับบ้านพักเป็นประจำทุกวัน โดยวันที่ 4 ก.พ. 2563 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้บังอาจสวมเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อให้นายวีรชัยและบุคคลอื่นเชื่อว่าจำเลยเป็นตำรวจ เพื่อความสะดวกในการจับตัวนายวีรชัยไปกักขังเรียกค่าไถ่ ข่มขืนใจ น.ส.พนิดา และนำตัวไปฆ่าเผาทำลายศพ โดยจำเลยที่ 1, 3, 4 และ 5 ร่วมกันแสดงเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ขอตรวจบัตรประชาชนนายวีรชัย แล้วร่วมกันล็อกคอฉุดลากบังคับผู้ตายไปกักขังในรถโตโยต้าสปอร์ตไรเดอร์ สีดำ ซึ่งได้นำมาจอดริมถนนหน้าศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ต่อมานายวีรชัยได้ถึงแก่ความตายจากการถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังดังกล่าว