CHINA

สารพัดปัจจัย ‘ความเชื่อมั่น-ฟรีวีซ่า’ กระตุ้นชาวจีนเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น

หนานหนิง – เมื่อช่วงหยุดยาวเนื่องในวันชาติจีน (1 ต.ค.) ที่ผสานรวมกับวันหยุดเนื่องในเทศกาลไหว้พระจันทร์ (29 ก.ย.) กลายเป็น “สัปดาห์ทอง” ระยะ 8 วัน (29 ก.ย.- 6 ต.ค.) ที่ประชาชนชาวจีนจำนวนไม่น้อยพากันจับจองการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ซีทริป (Ctrip) บริษัทผู้ให้บริการจองบัตรโดยสารชั้นนำ เปิดเผยว่าปริมาณการจองผลิตภัณฑ์การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศช่วงไม่นานนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าเมื่อเทียบปีต่อปี ขณะความต้องการเดินทางช่วงหยุดยาวเนื่องในเทศกาลไหว้พระจันทร์และวันชาติจีนยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นักท่องเที่ยวชาวจีนในฐานะแหล่งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีความสำคัญของไทย ได้ครองส่วนแบ่งขนาดใหญ่ในตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2019 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเยือนไทยมากกว่า 10 ล้านคน ครองส่วนแบ่งหนึ่งในสี่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในไทย

ไทยกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน หลังจากทางการจีนกลับมาอนุญาตการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ เนื่องจากใช้เวลาเดินทางไม่นาน ขอวีซ่าได้สะดวกรวดเร็ว และมีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย

จำนวนชาวจีนที่ยื่นขอวีซ่าเข้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ของไทย ณ นครหนานหนิง เผยว่าปริมาณการพิจารณาวีซ่าในเดือนมกราคมปีนี้เพิ่มขึ้น 10 เท่า เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

ความนิยมท่องเที่ยวไทยยังคงต่อเนื่องจนถึงฤดูร้อนของจีน โดยข้อมูลจากยูมีทริป (Umetrip) ระบุว่ากรุงเทพฯ ครองอันดับ 3 ของจุดหมายท่องเที่ยวต่างประเทศยอดนิยม 10 อันดับแรกในฤดูร้อน  (1 ก.ค.-22 ส.ค.)

เมื่อวันจันทร์ (25 ก.ย.) ไทยเริ่มต้นนโยบายฟรีวีซ่า ระยะ 5 เดือน แก่นักท่องเที่ยวจากบางประเทศ รวมถึงจีน โดยเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ได้ร่วมต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิด้วย

กัวตง ชาวเมืองเป่ยไห่ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ผู้วางแผนท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตในช่วงหยุดยาวเนื่องในวันชาติจีนปีนี้ มองว่านโยบายวีซ่าเป็นเหมือน “บังเหียน” ควบคุมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวขาเข้าและขาออก

ชาวจีนคนนี้เสริมว่านโยบายฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนไม่เพียงเกื้อหนุนการเข้าประเทศของนักท่องเที่ยว แต่ยังประหยัดค่าใช้จ่ายบางส่วน ช่วยให้ชาวจีนอยากเดินทางไปเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นในช่วงหยุดยาวที่จะถึงนี้

หวังเซิน ผู้ดูแลเที่ยวบินเช่าเหมาลำประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัทการท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง ตื่นเต้นกับนโยบายฟรีวีซ่านี้ และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเยือนไทยจะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 30

ข้อมูลการจองแพ็กเกจการท่องเที่ยวในปัจจุบันบ่งชี้ว่าช่วงหยุดยาวเนื่องในเทศกาลไหว้พระจันทร์และวันชาติจีนปีนี้ นักท่องเที่ยวชาวจีนชื่นชอบแพ็กเกจเส้นทาง “กรุงเทพฯ+พัทยา+เกาะเสม็ด” เป็นจำนวนไม่น้อย

ไล่จิ้นเผิง ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวต่างประเทศในจีนและธุรกิจเอเจนซีท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ มาหลายปี เล่าย้อนว่ายุคก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ บริษัทของเขารับรองนักท่องเที่ยวเกือบ 15,000 คนต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน

“ช่วงก่อนมีเที่ยวบินน้อยมาก ทำให้คนไม่ค่อยอยากมาเที่ยวไทย แต่นโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาลไทยจะช่วยขับเคลื่อนการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงหยุดยาวที่ใกล้มาถึงนี้” ไล่กล่าว

ไล่เสริมว่าผู้คนแวดวงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่างตื่นตัวหลังจากมีนโยบายฟรีวีซ่า เอเจนเซีท่องเที่ยวและธุรกิจบริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำในจีนบางส่วนเตรียมพร้อมสำหรับการกลับมาให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำอีกครั้ง

ข้อมูลจากยูมีทริประบุว่าสายการบินในจีนให้บริการเที่ยวบินระหว่างจีน-ไทยมากกว่า 6,400 เที่ยวในฤดูร้อน (1 ก.ค.-22 ส.ค.) ซึ่งฟื้นตัวอยู่ที่ราวร้อยละ 54 ของช่วงเดียวกันในปี 2019 โดยค่าบัตรโดยสารเที่ยวบินไป-กลับ เฉลี่ยอยู่ที่ราว 1,800 หยวน (ราว 8,963 บาท)

เหลี่ยวเย่จิ่ง ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของสายการบินไชน่า เซาเทิร์น แอร์ไลน์ส สาขากว่างซี กล่าวว่าช่วงนี้ความต้องการเที่ยวบินจากหนานหนิงไปยังกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น ขณะปัจจุบันความจุของเที่ยวบินจากหนานหนิงสู่กรุงเทพฯ อยู่ที่ร้อยละ 80

ทั้งนี้ เหลยเสี่ยวหัว นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สังกัดสถาบันสังคมศาสตร์กว่างซี เชื่อว่าความกระตือรือร้นและจำนวนชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นมากในช่วงหยุดยาวนี้

ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยชุดใหม่เร่งดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจหลากหลายรายการ ซึ่งรวมถึงนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ดึงดูดความสนใจจากชาวจีน โดยไทยยังคงเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างสองประเทศและมิตรภาพ “จีนไทยพี่น้องกัน”

ที่มา: สำนักข่าวซินหัว

Related Posts

Send this to a friend