BANGKOK

สภา กทม.รับหลักการร่างงบประมาณรายจ่ายฯ ปี 66 วงเงิน 9.9 พันล้าน

สภา กทม.รับหลักการร่างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 66 วงเงิน 9.9 พันล้านบาท พร้อมตั้งกรรมการวิสามัญ 35 คน พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน

วันนี้ (20 ก.พ.66) ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร พิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอเข้าที่ประชุม วงเงิน 9,999,312,010 บาท

โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ร่วมกันอภิปราย อาทิ นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทองพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสนอทุกประการ แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่มีการเสนอเรื่อง กานแก้ไขประตูระบายน้ำคลองบางซื่อและประตูระบายน้ำสามเสน ทั้งที่ประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก การสูบน้ำและการระบายน้ำทำได้เพียง 30% การไม่เสนอเรื่องดังกล่าว เป็นเพราะไม่ชอบหน้าตนเองหรือไม่ และไม่แน่ใจว่ารองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่กำกับสำนักการระบายน้ำสั่งไม่ให้เสนอหรือไม่ โดยเฉพาะ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ สำหรับตนเองรู้สึกว่าไม่ค่อยสนใจงานเท่าที่ควร

นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.พญาไท พรรคก้าวไกล กล่าวว่า สภา กทม.ให้ความเห็นชอบงบประมาณปี 2566ไปแล้ว และฝ่ายบริหารใช้งบประมาณแล้วเพียง 10% ห่วงว่าการของบประมาณเพิ่มเติม จะซ้ำซ้อนกับงบประมาณประจำปีหรือไม่ เพราะเหตุใดจึงไม่ขับเคลื่อนงบประมาณประจำปีที่มีอยู่ โดยเฉพาะสำนักการโยธา มีการของบประมาณปรับปรุงทางเท้าจำนวนมาก แต่ กทม.ไม่เคยมีมาตรฐานทางเท้า เมื่อระยะเวลาผ่านไป 2-3ปี ต้องทำใหม่ อีกทั้งการเว้นระยะทางเท้าหน้าบ้านเรือนประชาชนควรทำเป็นเนินราย เพื่อให้เจ้าของบ้านขับรถขึ้นไปแทน และให้ผู้ที่เดินเท้าได้รับความสะดวกเช่นกัน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การของบประมาณ จะขอเฉพาะเพียงการก่อสร้างถนนเท่านั้น ไม่มีการของบประมาณในการก่อสร้างทางเท้า ท่อระบายน้ำ ท่อร้อยสายลงดิน ทำให้ต้องขุดเจาะหลายครั้งและก่อให้เกิดความไม่สวยงาม ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ดังนั้นการใช้งบประมาณต้องให้ได้ประโยชน์คุ้มค่า สวยงาม ครอบคลุมกระจายทุกหน่วยงานให้เท่าเทียมกัน

นายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ส.ก.เขตวัฒนา กล่าวว่า จากประมาณการงบประมาณที่ผ่านมาพบว่า รายรับจริงของ กทม.เพิ่มมากขึ้น แต่มีคำถามเรื่องการจัดสรรงบประมาณของแต่ละพื้นที่เขต ส.ก.ในฐานะตัวแทนพี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมในจุดใดได้บ้าง เขตอาจมีความรู้ในเรื่องการจัดสรรงบประมาณที่ดี แต่ ส.ก.เองก็มีความรู้เพราะเห็นปัญหาประชาชนอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ในเรื่องของทางเท้า เขตวัฒนามีหลายซอยที่เชื่อมต่อกับเขตพื้นที่อื่น เช่น ซอยนานา แต่จากข้อมูลพบว่าเป็นพื้นที่การดูแลของสำนักการโยธา จึงขอทราบว่าความเป็นไปได้ในการโอนภารกิจดูแลจากสำนักการโยธาเพื่อให้เขตพื้นที่ดูแลเอง และในฐานะคณะกรรมการเศรษฐกิจ การเงิน การคลังและการงบประมาณ จะขอให้ กทม.พิจารณาเรื่องค่าเหยียบแผ่นดิน หรือภาษีนักท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลเรียกเก็บ ควรจัดสรรให้ กทม.ด้วย จะได้นำมาพัฒนาและดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในเขต กทม.ต่อไปได้

นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน กล่าวว่า นโยบายของผู้บริหารที่เน้นคำนึงถึงความคุ้มค่าของงบประมาณเป็นหลัก แต่ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ และความพร้อมของเขตด้วย โดยอาจจัดทำเป็น workshop เพื่อสรุปภาพรวมปัญหาอุปสรรค แนวทางการดำเนินการที่เขตต้องการ เพื่อจัดทำคำของบประมาณและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตรงจุด ซึ่งการคำนึงถึงแต่ความคุ้มค่าโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนจะทำให้การทำงานแก้ไขความเดือดร้อนยากขึ้น

นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แนวทางการปฏิบัติเพื่อของบประมาณควรเป็นโครงการเร่งด่วน แต่พบว่าหลายโครงการไม่เร่งด่วน นอกจากนี้โครงการปรับปรุงถนนตรอกซอยหลายเขตมีความล่าช้า เนื่องจากติดขัดเรื่องระบบสาธารณูปโภค ทั้งการไฟฟ้า และการประปา ทำให้หลายโครงการไม่เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วนการป้องกันน้ำท่วมเห็นด้วยกับการลอกท่อระบายน้ำโดยกรมราชทัณฑ์ แต่หลายเขตยังไม่มีการเซ็นสัญญาว่าจ้างกับกรมราชทัณฑ์ บางพื้นที่กรมราชทัณฑ์ดำเนินการล่าช้าแม้จะใกล้เข้าฤดูฝนแล้ว ดังนั้นหากเปิดโอกาสให้เขตสามารถใช้วิธีอื่นได้ การลอกท่อระบายน้ำจะเร็วขึ้น หรืออนุมัติให้เขตจัดซื้อรถดูดลอกท่อ ซึ่งจะประหยัดแรงงานและระยะเวลา มีความคุ้มค่า

ที่ประชุมสภา กทม.มีมติเห็นชอบรับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พ.ศ. … และให้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ 35 ท่าน กำหนดการแปรญัตติภายใน 7 วันทำการ และจะพิจารณาภายให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน (นับจากวันที่สภาฯรับร่างข้อบัญญัติฯ เป็นครั้งแรก) หรือภายในวันที่ 5 เม.ย.66

Related Posts

Send this to a friend