BANGKOK

จี้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ชี้แจง กทม.เปิดประมูลสร้างสะพานเกียกกาย

อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ จี้ ผู้ว่าฯชัชชาติ ชี้แจง กทม.เปิดประมูลก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แยกเกียกกาย ขณะที่รัฐบาลมีความเห็นให้ทบทวนโครงการ หลังสำนักพระราชวังส่งร่างพรฎ.เวนคืน คืนรัฐบาล เผยเคยขอติดต่อเข้าพบแล้วแต่ไร้การตอบรับ

อัชชพล ดุสิตนานนท์ อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงตั้งข้อสงสัยต่อ กทม. เปิดเอกชนประมูลก่อสร้าง “สะพานเกียกกาย สัญญา 3” ระหว่างรัฐบาลพิจารณาทบทวนโครงการฯ จี้ ผู้ว่าฯชัชชาติ ให้คำตอบว่าเป็นการดำเนินการโดยชอบหรือไม่ เพราะดูแย้งกับความต้องการของรัฐบาลที่อยากให้ทบทวนโครงการ หลังสำนักพระราชวังส่งร่างพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินกลับมายังรัฐบาล

อัชชพล ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว The Reporters ว่า ตนเองได้รับเชิญจากรัฐบาลร่วมประชุมหารือ เรื่อง โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 หลังสำนักพระราชวังส่งร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวเขตเพื่อเวนคืนที่ดินสร้างสะพานเกียกกาย คืนแก่รัฐบาล เพื่อให้แก้ไขชื่อผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

โดยมีผู้เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานเข้าร่วมประชุม อาทิ กรุงเทพมหานคร, กรมโยธาธิการและผังเมือง, เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และตัวแทนองค์กรวิชาชีพต่างๆที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น เพื่อเสนอข้อมูลสนับสนุนหรือคัดค้านโครงการก่อสร้างดังกล่าว ซึ่ง อัชชพล เป็นหนึ่งในผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้ร่วมนำเสนอข้อมูลและเหตุผลที่ไม่ควรสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ขึ้นด้วย

หลังการประชุมนั้น ได้มีความเห็นตามหนังสือของสำนักนายกรัฐมนตรี ลงนามโดยนายวิษณุ เครืองาม สรุปผลการหารือจากการประชุมดังกล่าว ส่งถึงประธานรัฐสภา ลงวันที่ 11 พ.ย. 65 ระบุชัดเจนว่า “ขณะนี้ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวเขตที่ดินเพื่อการเวนคืนที่เคยเสนอไปยังสำนักพระราชวังเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย สำนักพระราชวังได้ส่งคืนมาให้รัฐบาลปรับปรุงชื่อผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จึงเป็นโอกาสให้รัฐบาลได้พิจารณาทบทวนเนื้อหาสาระอีกครั้งว่าจะสมควรยืนยันหรือไม่”

อัชชพล เล่าข้อสังเกตสำคัญ หลังพบว่าสำนักข่าวอิศราได้เผยแพร่ข้อมูลเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 65 ใจความว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอต้องยื่นข้อเสนอและเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ในการก่อสร้าง “โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 3 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนคร จากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแยกสะพานแดง” ในวันที่ 29 พ.ย. 65 มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ชนะการประมูลด้วยราคาต่ำที่สุดไปแล้ว (มูลค่าประมาณ 1,240 ล้านบาท) ทั้งที่รัฐบาลมีความเห็นว่าควรชะลอ ทบทวนเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นไว้ก่อน

“…เรางงมากว่าการทำแบบนี้ถูกต้องหรือเปล่า ว่าทำไมถึงขัดแย้งกัน รัฐบาลมีความเห็นให้ทบทวนโครงการ แต่ กทม.กลับเดินหน้าในการประมูลโครงการ มันผิดขั้นตอนของบ้านเมืองหรือเปล่า ตกลงรัฐบาลกับ กทม. ใครใหญ่กว่ากัน ผมคิดว่าทาง กทม. ต้องชะลอเรื่องนี้หรือไม่ เราแปลกใจว่าทำไมในขณะมีเรื่องที่ย้อนแย้งแต่ กทม.กลับเดินหน้าอยู่…” อัชชพล กล่าว

อัชชพล ระบุว่า ตนอยากให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. หรือ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกมาตอบคำถามเรื่องนี้ เพราะตนก็เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนผู้ว่าฯ รู้สึกแปลกใจที่เรื่องนี้ทำแบบลับๆ ล่อๆ ทั้งที่เป็นเรื่องประโยชน์ของบ้านเมือง อยากให้ช้าลง รอบคอบมากขึ้น ไม่ได้ต้องการเอาชนะ แต่ต้องการทราบเหตุผลในการดำเนินการ

นอกจากนั้น อัชชพล เผยว่าตนได้เคยติดต่อขอเข้าพบนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผ่านทางที่ปรึกษาของรองผู้ว่าฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ เพื่อเจรจาและชี้แจงถึงเหตุผลให้ยุติการก่อสร้างโครงการนี้ พร้อมจะนำเสนอแนวทางการปรับโครงการให้เหมาะสม ก่อนตนจะยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครอง จากนั้นได้ทราบว่ารองผู้ว่าฯศานนท์ ได้รับทราบเรื่องแล้ว รับปากว่าจะนำเรื่องนี้คุยกับผู้ว่าฯ ชัชชาติด้วย แต่ไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด ขณะนี้จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 65 คดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำร้องถึงศาลปกครองสูงสุดให้รับพิจารณาคดีเนื่องจากเป็นประโยชน์สาธารณะและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

อัชชพล เล่าถึงเหตุผลที่ตนไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ ว่า สะพานเกียกกายเกิดขึ้นจากแนวคิด Bangkok Metropolitan Strategic planning ที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JAIKA) ได้ริเริ่มไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 แต่ในปัจจุบันไม่ได้ตอบโจทย์ของผังเมืองตามที่กรุงเทพมหานครคาดการณ์ไว้เดิมแล้ว รวมถึงขัดต่อนโยบายผังเมืองรวม ที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้เคยประกาศไว้เพื่อกระจายความเจริญไปยังพื้นที่รอบนอก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ประวัติศาสตร์ในเมืองเก่า

นอกจากนั้นยังพบว่าในรัศมี 3 กิโลเมตรจากรัฐสภา มีโครงข่ายคมนาคมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ได้แก่ สะพานพระราม 7 ที่เชื่อมถนนจรัญสนิทวงศ์กับแยกวงศ์สว่าง, สะพานกรุงธน, สะพานพระรามหก (ซึ่งถูกปรับสภาพใช้งานสำหรับรถไฟทางคู่), รถไฟฟ้าสายสีแดง, รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, รถไฟฟ้าสายสีม่วง และ ทางพิเศษประจิมรัถยาเชื่อมทางพิเศษศรีรัช ซึ่งใช้สำหรับเคลื่อนย้ายปริมาณจราจรในพื้นที่อยู่แล้ว

หากมีการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ จะทำให้กระทบต่อความสง่างามของรัฐสภา มลภาวะทางอากาศและเสียง กระทบต่อความปลอดภัยของเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน และพื้นที่ชุมนุมของประชาชน บริเวณลานด้านหน้าอาคารรัฐสภา ก่อให้เกิดปัญหาจราจรแออัด เพราะขณะนี้มีการปรับโครงการให้สิ้นสุดที่แยกสะพานแดง ถนนทหาร ซึ่งเป็นส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราชการ

พร้อมทั้งมีข้อเสนอว่า ให้ปรับแนวก่อสร้างสะพานเป็นแนวเลียบคลองบางซื่อฝั่งใต้ หรือใช้แนวทางเลือกใหม่คือ ก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาหรือปั่นจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาดกว้าง 6-8 เมตร ระหว่างถนนพระราม 5 ไปยังถนนจรัญสนิทวงศ์เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมการออกกำลังกายของประชาชนได้ด้วย

Related Posts

Send this to a friend