BANGKOK

‘ชัชชาติ’ ฟื้นศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านทุจริต เอาจริงแจ้งจับข้าราชการทุจริต

‘ชัชชาติ’ ฟื้นศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านทุจริต เอาจริงแจ้งจับข้าราชการทุจริต พร้อมชวนประชาชนแจ้งเบาะแสผ่าน Traffy Fondue

วันนี้ (2 ก.พ.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานครว่า กทม.ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านทุจริต ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 โดยผู้ว่าฯ กทม. เป็นหัวหน้าศูนย์ และศูนย์ดังกล่าวได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริต โดยมีรองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นผู้อำนวยการศูนย์ เพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติการลงพื้นที่ในเรื่องพิเศษ (เฉพาะกิจ) ในการสอบสวนจับกุม (ถ้ามี)

นอกจากนี้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทั้งในเชิงพื้นที่ หรือเชิงภารกิจ เพื่อแต่งตั้งให้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่ได้รับแจ้ง เพื่อขยายผล ตลอดจนวางแผนจับกุม ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ปปช. ปปท. และ บก.ปปป.

นอกจากนี้ยังได้ตั้งวอร์รูมศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริต ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครกรุงเทพมหานคร และบุคลากรกรุงเทพมหานคร ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โดยขั้นตอนการปฏิบัติงานของศูนย์จะรับเรื่องจากเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ โดยรักษาความลับของผู้แจ้งเบาะแส จากนั้นจะมีการตรวจสอบข้อมูลการทุจริตเบื้องต้น ร่วมกับหน่วยงานอื่น ก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบ ขยายผล จับกุม เพื่อดำเนินคดีอาญา และดำเนินการตามมาตการทางบริหารควบคู่กัน โดยการย้ายออกจากพื้นที่ ให้ประจำที่สำนักงานปลัดกรุงเทพมหานคร ที่จัดสรรไว้ 20 ตำแหน่ง แบ่งเป็น

ระดับชำนาญการพิเศษ (หัวหน้าฝ่าย) จำนวน 12 ตำแหน่ง

ระดับอำนวยการระดับต้น เป็นต้นไป (ผู้อำนวยการสำนักงาน-ผอ.เขต) จำนวน 6 ตำแหน่ง

ระดับบริหารต้นเป็นต้นไป (ผอ.สำนัก) จำนวน 2 ตำแหน่ง

หรือให้ช่วยราชการที่หน่วยอื่น และดำเนินการวินัยรายแรง โดยสั่งพักราชการ และให้ออกจากราชการไว้ก่อนโดยประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งเหตุผ่าน Traffy Fondue โดยปกปิดตัวตน ร้องเรียนมาที่สายด่วน 1555 หรือส่งจดหมายมาที่ผู้ว่าฯ กทม. ทั้งกรณีการจัดซื้อจัดจ้าง, เรียกรับผลประโยชน์, ยักยอกเงินการเก็บค่าธรรมเนียม ภาษีประเภทต่าง ๆ, นำทรัพย์สินของทางราชการไปใช้ส่วนตัว, เบียดบังเวลาราชการไปทำธุรกิจส่วนตัว, จัดการฝึกอบรม สัมมนา และศึกษาดูงาน ที่เข้าข่ายการทุจริต, การจ่ายเงินต่างๆ ที่เข้าข่ายการทุจริต, การเบิกจ่ายค่าอาหารทำการนอกเวลาเข้าข่ายการทุจริต, การแสวงหาผลประโยชน์จากการแต่งตั้งโยกย้าย และกรณีทุจริตอื่น ๆ สำหรับหน่วยงาน หรือส่วนราชการที่เสี่ยงต่อการทุจริต ประกอบด้วย สายงานโยธา สายงานเทศกิจ สายงานรายได้ สายงานสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ หากข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ถูกลงวินัยไล่ออกหรือปลดออก จะถูกริบสิทธิสวัสดิการทันที โดยหากถูกไล่ออกจะถูกตัดสิทธิสวัสดิการทุกอย่าง ทั้งบำเหน็จบำนาญ สิทธิการรักษาพยาบาลและสวัสดิการอื่น ๆ แต่หากถูกปลดออก บำเหน็จบำนาญยังคงได้รับอยู่ ส่วนกรณีมีผู้ยินยอมจ่ายเพื่อทำให้ถูกต้อง ผู้ที่จ่ายจะมีความผิดด้วย มีข้อหาติดสินบนเจ้าพนักงาน เป็นคดีอาญา กทม.จะแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย เพราะ กทม.ไม่มีอำนาจจับกุม ทำได้เพียงแจ้งเบาะแส

Related Posts

Send this to a friend