ดีป้า ลุยต่อ ‘OTOD#2’ อบรมเกษตรกรใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตั้งเป้าดันเกษตรอัจฉริยะ

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (One Tambon One Digital: OTOD#2) ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรไทยพัฒนาทักษะและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเกษตร โดยเน้นการใช้โดรนเพื่อการเกษตร แทรกเตอร์อัจฉริยะ และอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IoT) ภาคการเกษตร เพื่อมุ่งสู่เกษตรอัจฉริยะ คาดว่าจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทต่อปี
การเปิดตัวโครงการดังกล่าวมีขึ้น ณ อาคารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สำนักงานใหญ่) โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เป็นประธานในงานแถลงข่าว พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานพันธมิตรเข้าร่วม
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า โครงการ OTOD#2 เป็นการต่อยอดจากปี 2567 มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการเกษตร (Digital Agriculture) แก่ชุมชน เกษตรกร และช่างชุมชน ให้สามารถประยุกต์ใช้ 3 เทคโนโลยีหลักที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน dSURE และขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัล ได้แก่ โดรนเพื่อการเกษตร แทรกเตอร์การเกษตรอัจฉริยะ และ IoT ภาคการเกษตร เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ตลอดจนวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่แม่นยำ และเปลี่ยนผ่านสู่เกษตรอัจฉริยะ
ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เน้นย้ำว่า โครงการนี้มุ่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยี 3 ด้านอย่างจริงจัง ทั้งโดรน, IoT ภาคการเกษตรระดับแปลงใหญ่ชุมชน และแทรกเตอร์อัจฉริยะฝีมือคนไทยที่ติดตั้ง GPS และรองรับ 5G ในอนาคต ซึ่งจะช่วยส่งเสริมนวัตกรรมไทยและเกิดระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) เครื่องมือการเกษตรในชุมชน โครงการนี้ต้องการส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ผ่านเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐาน ภายใต้แนวคิดให้ชุมชน ‘คิดเอง ทำเอง และทำได้’
ภายในงานยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ระหว่าง ดีป้า และ Winrock International Institute for Agricultural Development เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเปิดตัวผู้สนับสนุนโครงการ 3 ราย ได้แก่ บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด ธนาคารออมสิน และบริษัท เจียไต๋ จำกัด นอกจากนี้ยังมีการประกาศความร่วมมือกับ 13 หน่วยงานพันธมิตร และจัดแสดงเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะจาก 12 บริษัทไทย
สำหรับกิจกรรมของโครงการ OTOD#2 จะมีการจัดอบรมทักษะผ่านสื่อออนไลน์ และลงพื้นที่จัดกิจกรรมใน 5 ภูมิภาค 9 จังหวัด ประกอบด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการ นิทรรศการเทคโนโลยี การจับคู่ธุรกิจกับผู้ให้บริการดิจิทัลมาตรฐาน dSURE และการนำเสนอแผนงานเพื่อขอรับทุนสนับสนุนจากดีป้า ซึ่งจะมีการคัดเลือกโครงการพัฒนาชุมชน 250 โครงการ (ทุนสูงสุด 150,000 บาทต่อโครงการ) และโครงการยกระดับธุรกิจเกษตรกร/ช่างชุมชน 50 โครงการ (ทุนสูงสุด 200,000 บาทต่อโครงการ) รวมมูลค่าทุนสนับสนุนกว่า 47.5 ล้านบาท