TECH

กระทรวงดิจิทัลฯ จับมือ ม.มหิดล จัดทำแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ หวังสร้างความโปร่งใสและน่าเชื่อถือจากการใช้เทคโนโลยี

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า เพื่อให้การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เป็นไปในรูปแบบที่คำนึงถึงบริบททางสังคมและจริยธรรม รักษาไว้ซึ่งโอกาสในการเติบโตและพัฒนาของแรงงานคนไทย รวมทั้งป้องกันไม่ให้การทำงานของปัญญาประดิษฐ์เอนเอียง ไม่เป็นธรรม นำมาใช้ในทิศทางที่ผิดต่อจริยธรรม เป็นภัยต่อเพื่อนมนุษย์

กระทรวงดิจิทัลฯ จึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหิดล ร่างหลักการและแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ “Digital Thailand – AI Ethics Guideline” ขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับผู้วิจัย ผู้ออกแบบ ผู้พัฒนา และผู้ให้บริการปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงเป็นการชี้แจงให้ผู้รับบริการได้ทราบถึงสิทธิและความเสี่ยงในการใช้งานเทคโนโลยีนี้ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการสร้าง ความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และมั่นคงปลอดภัยให้ระบบปัญญาประดิษฐ์ได้อยู่ร่วมกับสังคมไทยอย่างลงตัว

สำหรับร่างหลักการและแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ “Digital Thailand – AI Ethics Guideline” จะมีทั้งหมด 6 ประการ ได้แก่

1.ความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะต้องได้รับการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อสร้างการแข่งขันและพัฒนานวัตกรรม และผลักดันประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

2.ความสอดคล้องกับกฎหมาย จริยธรรม และมาตรฐานสากล กำหนดให้มีแนวทางการปฏิบัติในการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ โดยเคารพต่อความเป็นส่วนตัว เกียรติ สิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน

3.ความโปร่งใสและภาระความรับผิดชอบ ที่ต้องสามารถตรวจสอบกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันต้องมีภาระความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นตามภาระหน้าที่ของตนเองได้

4.ความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ควรได้รับการออกแบบให้มีความมั่นคงปลอดภัย เพื่อป้องกันการโจมตีจากภัยคุกคาม เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคง ปลอดภัยของข้อมูลและระบบ รวมถึงการคุ้มครองข้อมูล ส่วนบุคคล ตามหลักจริยธรรม

5.ความเท่าเทียม หลากหลาย ครอบคลุม และเป็นธรรม ควรมีการออกแบบและพัฒนาโดยคำนึงถึงความเท่าเทียม หลากหลาย ครอบคลุม และความเป็นธรรม หลีกเลี่ยงการผูกขาด ลดการแบ่งแยกและเอนเอียง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนจำนวนมาก

6.ความน่าเชื่อถือ ควรได้รับการสนับสนุนให้มีความน่าเชื่อถือและความมั่นใจในการใช้งานต่อ สาธารณะ โดยมีผลลัพธ์อย่างถูกต้องแม่นยำ รวมถึงควบคุมคุณภาพและความครบถ้วนสมบูรณ์ของ ข้อมูลได้

Related Posts

Send this to a friend