SOCIAL RESPONSIBILITY

มูลนิธิมิตซูบิชิ อิเล็คทริคไทย จัด กิจกรรมจิตอาสาปลูกป่าลดโลกร้อน ณ ป่าชุมชนบ้านหว้าเอน

มูลนิธิมิตซูบิชิ อิเล็คทริคไทย พร้อมคณะผู้บริหารและพนักงาน กว่า 250 คน จาก 11 กลุ่มบริษัท Mitsubishi Electric ในประเทศไทย เข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาปลูกป่าลดโลกร้อน และสร้างรั้วทางขึ้นจุดชมวิวธรรมชาติ ณ ป่าชุมชนบ้านหว้าเอน จ.ปราจีนบุรี สนับสนุนการต่อยอดสร้างสมดุล ระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากผืนป่า สอดคล้องตามพันธกิจ และคุณค่าขององค์กรที่ให้ความสำคัญด้าน “สิ่งแวดล้อม” และ “สังคม” นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง

กิจกรรมนี้เป็นหนึ่งในความร่วมมือภายใต้ “โครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน” โดยร่วมกับกรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก มูลนิธิป่าชุมชน และคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนบ้านหว้าเอน เพื่อดำเนินกิจกรรมลดโลกร้อน ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่ง Mitsubishi Electric ได้ให้การสนับสนุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนในท้องถิ่น ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากป่าชุมชน และมีกำลังใจในการช่วยอนุรักษ์ผืนป่า อันเป็นมรดกของประเทศอย่างมีแบบแผน

นายคุนิฮิโกะ เซะกิ รองประธานกรรมการมูลนิธิมิตซูบิชิ อิเล็คทริคไทย เผยว่า “Mitsubishi Electric เป็นกลุ่มบริษัทที่มีนโยบาย การบริหารธุรกิจโดยตระหนักถึง “ความยั่งยืน” เป็นรากฐานสำคัญ เรามุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณค่าขององค์กร และแสดงความรับผิดชอบ ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพนักงานของเรา ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่าขององค์กร ที่จะร่วมมือกันทำให้สังคมที่ยั่งยืนเป็นจริง ภายใต้ความมุ่งมั่น “เปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า หรือ Changes for the Better” และการตระหนักถึงคุณค่าทั้ง 7 ประการขององค์กร ซึ่งได้แก่ ความไว้วางใจ คุณภาพ เทคโนโลยี จริยธรรมและการปฏิบัติตามระเบียบ ความเป็นมนุษย์ รวมถึงคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม กิจกรรมนี้จึงไม่เพียงมีความหมายต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังประโยชน์ให้กับสังคม ขอให้พนักงานจิตอาสาทุกคนจำความรู้สึกของการให้ การทำความดีเพื่อคนอื่น โดยไม่เห็นแก่ความยากลำบาก เพราะท้ายที่สุดจะทำให้เราภาคภูมิใจ ในผลของการกระทำ ซึ่งจะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในวันพรุ่งนี้ เหมือนกับต้นไม้เล็กๆ ที่พวกเราช่วยกันปลูกที่จะเติบโตสูงใหญ่ กลายเป็นป่าเพื่อความเขียวชอุ่มในวันพรุ่งนี้”

“โดยปีนี้มีพนักงานจิตอาสากว่า 250 ชีวิต ที่สละเวลาในวันหยุดมาร่วมใจ ปลูกป่าคืนความสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้ต่างๆ ได้แก่ ยางนา สัก มะค่าโมง พยูง ประดู่ป่า และมะขามยักษ์ รวม 4,000 ต้นบนพื้นที่ 20 ไร่ พร้อมทั้งสร้างรั้วทางขึ้นจุดชมวิวธรรมชาติ และปลูกป่าทางไกลโดยการยิงเมล็ดพันธุ์มะค่าโมงด้วยหนังสติ๊ก ที่ป่าชุมชนบ้านหว้าเอน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการศึกษาเรียนรู้ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชน”

ด้าน นายเทียนชัย ตรีชิต ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 สาขาปราจีนบุรี กล่าวว่า “โครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน เป็นโครงการที่กรมป่าไม้ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมกำหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์ แนวทางในการดำเนินโครงการฯ โดยมีจุดประสงค์ เป็นสื่อกลางระหว่างภาคเอกชน กับภาคประชาชน ในการดำเนินกิจกรรมด้านการบริหารจัดการ ในพื้นที่ป่าชุมชนเพื่อลดสภาวะโลกร้อน และเกิดประโยชน์ต่อชุมชนที่ร่วมดูแลรักษาป่า จึงเกิดเป็นการประสานความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มบริษัท Mitsubishi Electric ในประเทศไทย”

“ซึ่งตระหนักถึงความสำคัญ ในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ และดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 และในปีนี้ได้จัดให้มีกิจกรรมปลูกป่าลดโลกร้อน และสร้างรั้วขึ้นจุดชมวิวธรรมชาติ ภายใต้โครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน ร่วมกับคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน และประชาชนหว้าเอน เพื่อฟื้นฟูสภาพป่า และพัฒนาพื้นที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์ของชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้ป่าชุมชนแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถยังประโยชน์และความสุข ให้แก่เราทุกคนสืบไป”

“ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดตั้ง “ป่าชุมชน” กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคมากกว่า 11,194 แห่ง รวมเนื้อที่กว่า 6.23 ล้านไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ค.2566) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชุมชน มีส่วนร่วมดูแลและใช้ประโยชน์จากผืนป่า ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งในด้านการศึกษาเรียนรู้ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน เข้ามาสนับสนุนชุมชนผ่านกิจกรรม อาทิ การปลูกป่า การทำฝายชะลอน้ำ หรือการทำแนวกันไฟ ทำให้ป่าเกิดความอุดมสมบูรณ์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนช่วยลดโลกร้อน นอกจากนี้ชุมชนยังจะได้สิทธิประโยชน์รายได้จากการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต ที่เกิดจากการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลป่าชุมชน และนำเงินกลับมาดูแลรักษาป่าชุมชนได้อย่างยั่งยืน”

Related Posts

Send this to a friend