SOCIAL RESPONSIBILITY

ฟิลิปส์ ร่วมส่งมอบเครื่องมือทางการแพทย์ – ระบบจัดคิว แก่มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี

นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด และตัวแทนจากมูลนิธิ ฟิลิปส์ ร่วมส่งมอบเครื่องมือทางการแพทย์ และระบบการจัดการและดูแลผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ICCA ผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อช่วยให้การช่วยเหลือ ผู้ป่วยด้อยโอกาสในประเทศไทย ให้เข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในปีพ.ศ. 2564 มีรายงานยอดผู้ป่วยกว่า 2,000 รายต่อวัน และยอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 รายต่อวัน แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์ได้คลี่คลายมากขึ้น แต่ก็ยังมีผู้ป่วยกว่า 350 รายต่อสัปดาห์ ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงเช่นนั้น เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำสมัย เป็นสิ่งจำเป็นต่อการสนับสนุนการทำงาน ของบุคลากรทางการแพทย์ ในโรงพยาบาลอย่างยิ่ง

นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เรามุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนไทย และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกำหนดทิศทางอนาคต ของสาธารณสุขในประเทศไทย ด้วยการนำเสนอนวัตกรรม ในการดูแลผู้ป่วยและโซลูชั่นทางการแพทย์อัจฉริยะ ที่เหมาะสมและพอดีกับความต้องการในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่เรามีโอกาส ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลราชวิถี”

“ด้วยระบบการจัดการและดูแลผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ICCA ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น ลดงานด้านเอกสาร และสามารถจัดการกระบวนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเมื่อทำงานร่วมกับเครื่องติดตามคลื่นหัวใจ และสัญญาณชีพของฟิลิปส์ จะช่วยสนับสนุนการติดตามอาการ และการรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ป่วย และช่วยสร้างความพึงพอใจในการทำงาน ให้แก่บุคลาการทางการแพทย์ด้วย”

ด้าน นายแพทย์อุดม เชาวรินทร์ กรรมการผู้จัดการมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า “ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงพยาบาลราชวิถีเป็นหนึ่ง ในโรงพยาบาลหลักของประเทศไทย ที่ให้บริการรักษาพยาบาล แก่ผู้ป่วยโควิด-19 โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งในช่วงเวลานั้นโรงพยาบาลราชวิถีต้องเผชิญกับความท้าทาย จากการขาดแคลนบุคลากรและจำนวนเตียง ที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยจำนวนมากพร้อมกัน เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดการณ์ไม่ได้ ซึ่งจากสถิติของผู้ป่วย โรงพยาบาลราชวิถีทั้งหมดในปี พ.ศ. 2564 มีผู้ป่วยนอกกว่า 955,403 คน และผู้ป่วยใน 34,889 คน โดยผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้ป่วยนอกจำนวน 2,385 คน และผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้ป่วยในจำนวน 6,673 คน ซึ่งต้องบอกว่าจำนวนผู้ป่วย ที่ต้องการการรักษามีมากกว่านี้มาก แต่โรงพยาบาลของเรารองรับได้เพียงเท่านี้”

สำหรับในปีพ.ศ. 2565 โรงพยาบาลราชวิถี มีจำนวนผู้ป่วยนอกกว่า 1,295,552 คน และผู้ป่วยใน 44,925 คน โดยผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้ป่วยนอกมีจำนวน 27,971 คน และผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้ป่วยในจำนวน 11,955 คน ซึ่งจากสถานการณ์นี้ ทำให้เราตระหนักถึงความต้องการด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จะเข้ามาช่วย ลดงานให้กับบุคลากรของโรงพยาบาล จึงได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิฟิลิปส์ และ ฟิลิปส์ ประเทศไทย เพื่อสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ทางการแพทย์ขั้นสูงสำหรับโรงพยาบาลราชวิถี

ด้านนายแพทย์พิชิต ควรรักษ์เจริญ หัวหน้ากลุ่มงานดิจิทัลการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า “โรงพยาบาลราชวิถีมีศักยภาพสูง ในการวินิจฉัยและให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของเราต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญ ก็คือปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นโดยไม่เคยคาดคิดมาก่อน เจ้าหน้าที่ของเราจึงต้องทำงานล่วงเวลา ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพวกเขาอย่างมาก ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับเชื้อโควิด-19 หรือสัมผัสเสี่ยงสูง ยังต้องเข้ารับการกักตัวถึง 14 วัน ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคน ในช่วงดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย”

หลังจากที่เราได้ใช้โซลูชันของ Philips มาระยะหนึ่งเราก็พบว่า ระบบการจัดการและดูแลผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์นี้ ช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วย ได้อย่างครอบคลุม และช่วยการตัดสินใจในการรักษารวดเร็วยิ่งขึ้น ระบบ ICCA นี้ช่วยอำนวยความสะดวก ตั้งแต่ผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล โดยเชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาล เพื่อจัดการข้อมูลของผู้ป่วยในโรงพยาบาล และให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นประวัติการใช้ยา บันทึกการรักษา รายงานทางห้องปฏิบัติการ และรูปภาพ เป็นต้น

ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของเราจึงไม่ต้องเสียเวลา กับการค้นหา หรือจัดทำเอกสารรายงานเหมือนเมื่อก่อน เจ้าหน้าที่ก็จะมีเวลาดูแลผู้ป่วยมากขึ้น ในขณะเดียวกันความสะดวก ในการเข้าถึงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ยังช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัย และเลือกแนวทาง การดูแลรักษาผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดของโรคอีก ระบบเหล่านี้ก็จะสามารถลดภาระงาน ของเจ้าหน้าที่ได้มากขึ้น และการรักษาผู้ป่วยก็สามารถทำได้รวดเร็วขึ้นเช่นกัน

Related Posts

Send this to a friend