PUBLIC HEALTH

เปิดใจ ‘แพทย์อาสา’ กลุ่มเส้นด้ายขอรัฐเพิ่ม เตียงผู้ป่วยสีเหลือง-แดงให้มากขึ้น

เปิดใจ “แพทย์อาสา” กลุ่มเส้นด้าย ขอรัฐเพิ่มเตียงผู้ป่วยสีเหลือง-แดงให้มากขึ้น เปิดโอกาสเข้าถึงยาและการรักษาเพื่อยับยั้งไม่ให้เชื้อลงปอด ขออย่าละเลยผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยติดเตียง แม้ใช้ทรัพยากรรักษามากแต่คุ้มเพื่อรักษาชีวิตผู้เป็นที่รักของครอบครัว

วันนี้ (20 ก.ค. 64) The Reporters ได้สัมภาษณ์แพทย์อาสาของกลุ่มอาสาสมัครเส้นด้าย ในภารกิจต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังไม่ได้รับเตียงรักษา รอความหวังในชุมชนทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

แพทย์หญิงเพชรวิไล นพพรพันธุ์ เข้าร่วมเป็นแพทย์อาสากับกลุ่มเส้นด้าย เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน หลังเห็นเพจหมอได้แชร์ข้อความที่ต้องการหมออาสา จึงเข้าร่วมกับกลุ่มเส้นด้าย จากกรณีสูญเสียผู้ป่วยสูงอายุที่ต้องตายคาบ้านเพราะไม่มีเตียงรักษา

แพทย์หญิงเพชรวิไล ใช้เวลาหลังทำงานประจำ มาช่วยประเมินอาการผู้ป่วยอาการหนัก ตามที่กลุ่มเส้นด้ายได้รับการร้องขอความช่วยเหลือ รวมทั้งการให้คำปรึกษาผ่านทางกลุ่มไลน์และวีดีโอคอล โดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มเนอสซิ่งโฮม ที่เป็นผู้สูงอายุ เป็นผู้ป่วยติดเตียง และเป็นผู้ป่วยโควิด-19 แต่กลับเป็นกลุ่มที่ถูกละเลยมากที่สุด เพราะเมื่อเป็นผู้ป่วยติดเตียง อาการหนัก ทำให้หาเตียงรักษาในโรงพยาบาลยากมาก จนต้องสูญเสีย ผู้ป่วยสูงอายุในเนอสซิ่งโฮมกว่า 10 คน ในจำนวนกว่า 3 แห่ง ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้แพทย์หญิงเพชรวิไล เห็นว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ควรถูกทิ้งให้เสียชีวิตคาบ้าน

ทีมแพทย์อาสา กลุ่มเส้นด้าย พบปัญหาการขาดเตียงในกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง และ สีแดง จึงเสนอให้มีการเพิ่มเตียงสำหรับคนไข้กลุ่มนี้ให้มากที่สุด โดยอาจเพิ่มพื้นที่พิเศษในศูนย์พักคอย ที่รับคนไข้สีเขียว ให้สามารถรับคนไข้สีเหลือง ที่รอเตียงเข้าโรงพยาบาล ได้เข้ามาพักติดตามอาการในศูนย์พักคอย เพราะการยับยั้งไม่ให้เชื้อลงปอด ต้องให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้เร็วที่สุด หรือในบางครั้ง น้ำเกลือ 1 ขวด ก็มีค่าสำหรับหนึ่งชีวิต

แพทย์หญิงเพชรวิไล เปิดเผยด้วยว่า จากกรณีการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงในเนอสซิ่งโฮม แห่งหนึ่ง ที่รอเตียงจนไปเสียชีวิตในรถพยาบาล หลังออกไปไม่ถึง 5 นาที เป็นกรณีที่น่าเสียใจมากที่สุด และต้องไม่ให้ปล่อยให้เกิดแบบนี้ขึ้นอีก

“ยิ่งเริ่มต้นรักษาได้เร็วเท่าไร ยิ่งเข้าถึงยาได้เร็วเท่าไร ยิ่งเข้าถึงระบบการรักษาได้เร็วเท่าไร กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงก็จะเข้าสู่ภาวะปอดอักเสบได้ช้าลง โอกาสตายก็ช้าลง ถามว่าใช้ทรัพยากรเยอะไหม เยอะมาก แต่ถ้าได้ชีวิตกลับมาคุ้มไหม คุ้มนะ หากเขาเป็นที่รักของใครสักคน คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้มอีก” แพทย์หญิงเพชรวิไล นพพรพันธุ์ กล่าว

ในทุกๆวันแพทย์อาสาของกลุ่มเส้นด้ายที่มีเพียง 2 คน ได้ร่วมกันไปดูแลผู้ป่วยที่อาการหนักที่ยังรอเตียงอยู่ที่บ้าน ก็ได้แต่คาดหวังว่า การจัดระบบโฮม ไอโซเลชั่น จะช่วยลดความต้องการเตียงรักษา และอยากให้มีการปรับศูนย์พักคอยให้มีพื้นที่สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ได้

“ทรัพยากรที่มีจำกัดกับระบบที่ไม่เอื้อ ทำให้เรามาถึงจุดนี้ ที่หมอลงมาทำอะไรสักอย่างเพื่อยื้อสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายกว่านี้ เรารู้แหละว่าแค่เรามันยื้อมันไม่ได้ทั้งหมด มันเหมือนกับน้ำที่ไหลออกจากมือ เรายื้อได้แค่ที่มันไหลอยู่ในมือ หลุดออกจากมือเราก็คว้าไว้ไม่หมด แต่ก็ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย” พญ.เพชรวิไล นพพรพันธุ์ แพทย์อาสากลุ่มเส้นด้าย

Related Posts

Send this to a friend