PUBLIC HEALTH

กรมสุขภาพจิต เตือน ระวังอาการเครียดจากสถานการณ์การเมือง ส่งผลทั้งร่างกาย-จิตใจ ให้ใช้สติ หลีกเลี่ยงถ้อยคำรุนแรง

วันนี้ (19 มิ.ย. 68) กรมสุขภาพจิต เตือนประชาชนระวังอาการเครียดจากสถานการณ์การเมือง ซึ่งส่งผลทั้งทางกาย ใจ และความสัมพันธ์ ขอให้ใช้สติรับฟังข้อมูลอย่างรอบคอบ หลีกเลี่ยงถ้อยคำรุนแรง และดูแลใจด้วย 5 วิธี คือ รู้เท่าทันอารมณ์ จำกัดเวลาติดตามข่าว ดำรงชีวิตสมดุล เคารพความคิดเห็นที่หลากหลาย และพักผ่อนผ่อนคลายอย่างเหมาะสม

นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากเหตุการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสถานการณ์ทางการเมือง ประชาชนเกิดภาวะความเครียดจากสถานการณ์ดังกล่าว หรือที่เรียกว่า Political Stress Syndrome (PSS) แม้จะไม่ใช่โรคทางจิตเวชโดยตรง แต่เป็นปฏิกิริยาทางอารมณ์และจิตใจที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ติดตามข่าวสารทางการเมืองอย่างใกล้ชิด หรือมีแนวโน้มเอนเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนทำให้เกิดอาการทั้งทางร่างกาย จิตใจ และส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยมีลักษณะสำคัญ 3 ด้าน คือ

1) ร่างกาย ได้แก่ ปวดตึงบริเวณขมับหรือต้นคอ หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น นอนไม่หลับ หรือแน่นท้อง

2) จิตใจ เช่น หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว เบื่อหน่าย ฟุ้งซ่าน หรือหมกมุ่นกับข้อมูลทางการเมืองจนเกิดความเครียด

3) ปัญหาทางพฤติกรรม เช่น การโต้แย้งหรือโต้เถียงโดยใช้อารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัว หรืออาจถึงขั้นใช้ความรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์

ดังนั้น ประชาชนควรมีสติในการรับฟังข้อมูลอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงผลกระทบจากการแสดงความคิดเห็นหรือใช้ถ้อยคำที่รุนแรง เพราะแม้เจตนาจะเป็นการสื่อสารข้อเท็จจริง แต่หากขาดความระมัดระวังอาจก่อให้เกิดความเกลียดชังและทำให้สถานการณ์มีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น

การสื่อสารในโลกปัจจุบันโดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์หากขาดการยั้งคิดและเต็มไปด้วยถ้อยคำรุนแรง อาจก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างกับบุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่

1) ผู้พูดหรือผู้ส่งสาร หากใช้อารมณ์มากกว่าสติ อาจใช้ถ้อยคำหมิ่นประมาทหรือยั่วยุโดยไม่ตั้งใจ ทำให้ความขัดแย้งลุกลาม

2) ผู้ฟังหรือผู้รับสาร หากได้รับข้อมูลที่รุนแรงอาจรู้สึกไม่พอใจ เครียด หรือวิตกกังวลจนกระทบสุขภาพจิต

3) ผู้คนในสังคม หากการสื่อสารในวงกว้างขาดความระมัดระวังและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง อาจทำให้เกิดบรรยากาศของความตึงเครียดและรู้สึกว่าสังคมไม่น่าอยู่

นพ.กิตติศักดิ์ แนะนำให้ใช้ 5 วิธีดูแลใจ ได้แก่ รู้เท่าทันอารมณ์ขณะเสพข่าว, จำกัดเวลาในการติดตามข่าวสาร, ทำกิจวัตรประจำวันให้สมดุล ไม่ละเลยหน้าที่, เคารพความคิดเห็นที่หลากหลายโดยเปิดใจรับฟัง และให้เวลากับการพักผ่อนและผ่อนคลายความเครียด เช่น นอนให้พอออกกำลังกาย ทำสมาธิ หรือฝึกหายใจคลายเครียด

ทั้งนี้ หากพบว่าอาการเครียดมีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตหรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น ขอให้รีบขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ณ สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat