สวรส. – จุฬา เดินหน้าวิจัยผลกระทบการให้วัคซีนตับอักเสบของไทย สู่การขจัดโรคภายในปี 73

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมสนับสนุนงานวิจัย “การประเมินผลกระทบการให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีในงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแห่งชาติ หลังจากดำเนินการมา 30 ปี และความชุกของโรคตับอักเสบเอ บี และซี ในประเทศไทย” โดยมี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการในฐานะหัวหน้าโครงการ
เชื้อไวรัสตับอักเสบ บีและซี เป็นหนึ่งในต้นทางสำคัญของโรคร้ายที่จะนำไปสู่ความเจ็บป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นโรคตับอักเสบ ภาวะตับแข็ง รวมถึงมะเร็งตับ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีจึงนับเป็นภัยคุกคามสุขภาพร้ายแรง ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
ประเทศไทยจัดทำยุทธศาสตร์กำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ.2565-2573 เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาไวรัสตับอักเสบที่สอดคล้องกับเป้าหมายของ WHO แม้แนวโน้มการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี ของไทยจะลดลงต่อเนื่อง เพราะการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะในเด็กแรกเกิด แต่การจะถึงเป้าหมายขจัดโรคไวรัสตับอักเสบของ WHO การศึกษาวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ สวรส.ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนงานวิจัยเพื่อพัฒนานโยบายระบบสุขภาพของประเทศ จึงร่วมสนับสนุนงานวิจัย เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ทบทวนแผนและพัฒนานโยบายขจัดโรคไวรัสตับอักเสบในระยะต่อไป
ศ.นพ.ยง กล่าวา การวิจัยครั้งนี้เพื่อให้ทราบข้อมูลขั้นพื้นฐานที่ต่อยอดจากงานวิจัยที่ทำมา รวมถึงติดตามการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด กล่าวคือเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เรารู้ว่ามีประชากรประมาณ 2 ล้านคน ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังทั้งรายใหม่และรายเก่า และรู้ว่าประชากรไทยประมาณ 7 แสนคน ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จึงจำเป็นต้องประเมินอีกครั้งว่ายอดการติดเชื้อลดลงเท่าไหร่
ทั้งนี้ โครงการจึงมุ่งหาข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์การป้องกันโรคตับอักเสบ เพื่อติดตามความก้าวหน้าของงานป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ และประสิทธิภาพของการให้วัคซีนตับอักเสบบีในประชากรไทย โดยเปรียบเทียบความชุกในประชากรกลุ่มที่ไม่เคยได้รับวัคซีน สำหรับผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเมื่อแรกเกิด
ความสำคัญอีกด้านหนึ่งของงานวิจัยคือ การมีข้อมูลที่แสดงถึงความพร้อมของไทยต่อ WHO ในการขจัดโรคไวรัสตับอักเสบให้เหลือน้อยที่สุดภายในปี 2573 ตลอดจนแสดงถึงศักยภาพของระบบเฝ้าระวังโรคของไทยด้วยว่าจะมีทิศทางอย่างไร ทั้งนี้ตัวเลขการติดเชื้อของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่ WHO ต้องการคือ น้อยกว่าร้อยละ 0.1 ซึ่งประเทศไทยมีข้อมูลในปี 2557 ระบุตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 0.14 ซึ่งยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายของ WHO
แม้สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจะมีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเหตุผลหลักมาจากการฉีดวัคซีน แต่ก็ยังจำเป็นต้องค้นหาผู้ที่ติดเชื้อให้ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่อายุเกิน 30 ปีขึ้นไป หรือเกิดหลังปีที่มีการให้วัคซีนป้องกันไวรัส ปัญหาจึงอยู่ในกลุ่มที่เกิดก่อนปี 2535 หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของประชากรไทย ที่จะมีโอกาสติดเชื้อไวรัสเรื้อรัง และนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งตับ หรือตับแข็งได้ในอนาคต
สำหรับงานวิจัยการประเมินผลกระทบการให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีในงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแห่งชาติฯ จะสำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 6,000 คน ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย พระนครศรีอยุธยา บุรีรัมย์ ตรัง และอุตรดิตถ์ เพื่อศึกษาการติดเชื้อ การเป็นพาหะ และระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคตับอักเสบบีในประชากรไทยกลุ่มอายุต่าง ๆ เพื่อทราบถึงแนวโน้มการติดเชื้อหลังการฉีดวัคซีนป้องกัน ตลอดจนประเมินการเปลี่ยนแปลงของภาวะภูมิคุ้มกันต่อโรคตับอักเสบบีในเด็กกลุ่มที่ได้รับ และไม่เคยได้รับวัคซีน จากระยะเวลาที่ผ่านไป 30 ปี ใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบต่อไป
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า สวรส. สนับสนุนทุนวิจัยให้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัยด้านการประเมินผลกระทบการให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ บี ในงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติ ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการขจัดไวรัสตับอักเสบในประเทศไทยให้หมดไปหรือเหลือน้อยที่สุด ซึ่งประชากรไทยโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรอง ทั้งนี้ ไวรัสตับอักเสบซี สามารถรักษาให้หายขาดได้ ไวรัสตับอักเสบบี สามารถรักษาเพื่อไม่ให้เกิดการดำเนินของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ รวมทั้งช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรค