KNOWLEDGE

NARIT ชวนชม ‘ซูเปอร์บลูมูน’ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี 30 ส.ค.นี้

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 30 สิงหาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 31 สิงหาคมนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ “ซูเปอร์บลูมูน” (Super Blue Moon) ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี เป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน

ซูเปอร์บลูมูน คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันระหว่าง “ซูเปอร์ฟูลมูน” (Super Full Moon) ซึ่งเป็นการเกิดดวงจันทร์เต็มดวงที่มีระยะใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร และ “บลูมูน” (Blue Moon) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์การเกิดดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน

สำหรับซูเปอร์บลูมูนในคืนที่จะถึงนี้ จะมีขนาดใหญ่กว่าดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติประมาณ 7% และความสว่างเพิ่มขึ้นประมาณ 15% โดยเวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์เกี่ยวกับดวงจันทร์ในครั้งนี้ คือช่วงเย็นวันที่ 30 สิงหาคม ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:09 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างเคียงข้างดวงจันทร์อีกด้วย

ทั้งนี้ สดร.ยังเตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ ในคืนวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 18:00-22:00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เชียงใหม่ หอดูดาวภูมิภาค จ.นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา นอกจากนี้ยังมีจุดสังเกตเพิ่มเติมที่โรงเรียนในเครือข่ายกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ทั่วประเทศ หรือรับชมผ่านทางเฟซบุ๊ก “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ”

Related Posts

Send this to a friend