ด้าน ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ด้วยความร่วมมือของ 3 หน่วยงานต้นสังกัด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 ในกลุ่มโรงเรียนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีโรงเรียนเข้าร่วมจำนวน 226 แห่ง ใน 11 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งนับว่ามีจำนวนโรงเรียนมากที่สุดในรุ่นที่ 2 ดังที่ ศ.นพ.วิจารณ์ ได้กล่าวไว้ว่า เป้าหมายของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองนั้น หวังผลพลอยได้ที่เป็นผลกระทบทางอ้อมที่นำไปสู่การขยายผลให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับ กสศ. ที่ให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดต้นแบบที่นำไปสู่การขยายผลใน 4 ประเด็น ได้แก่
1)สนับสนุนโรงเรียนขนาดกลางที่มีนักเรียนด้อยโอกาสหนาแน่นให้สามารถพัฒนาคุณภาพตนเองได้ทั้งระบบ และสามารถเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ ได้สอดคล้องกับบริบท
2) สนับสนุนครูให้ได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 (Learning Outcome)
3)สนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนตามแนวทาง “จัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ” และ
4)สนับสนุนการศึกษาวิจัย ติดตาม ประเมินผล (เชิงปริมาณและคุณภาพ) และถอดบทเรียน ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบโรงเรียน (School Transformation)