KNOWLEDGE

ชีวิตใหม่! ก้าวแรกที่ได้กลับมาเรียนหนังสือ เติมกำลังใจเด็กนอกระบบกล้าคิดมุ่งทำตามฝัน

จากภาพฝันถึงอนาคตที่เคยทอดยาว หากด้วยปัจจัยด้านทุนทรัพย์ เด็กหลายคนจึงต้องหลุดออกจากระบบการศึกษากลางทาง แล้วเบนเข็มชีวิตไปยังเส้นทางทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่เมื่อขาดประกาศนียบัตรวุฒิการศึกษา ทางเลือกในการทำงานจึงเหลือไม่มากนัก ขณะที่บางคนจบเพียง ป.6 หรือ ม.3 แล้วหยุดเรียนเพื่อเสียสละให้น้องได้เรียน ต้องจำใจหยุดเส้นทางการศึกษาไว้แค่นั้น ทั้งที่พวกเขาเชื่อว่า ‘การได้เรียนหนังสือ’ เป็นหนทางเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิต เป็นแรงพยุงให้กล้าคิดกล้าฝันถึงการได้เรียนในสาขาวิชาที่ตนสนใจ หรืออาชีพในฝันที่อยากพาตัวเองไปให้ถึงอนาคต

ดังเช่น ‘อ๋า’ ยังไม่ทันเรียนจบชั้น ม.1 ก็ต้องออกมาทำงานรับจ้างแลกค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อเป็นอีกแรงหนึ่งในการหารายได้จุนเจือครอบครัว และ ‘อั๋น’ เรียนจบ ม.3 ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.2 แต่ด้วยครอบครัวไม่มีกำลังส่งเสีย เขาต้องหยุดเรียนเพื่อหางานทำ รวมถึงยังมีภาระดูแลสมาชิกคนอื่นในบ้าน ที่มีทั้งน้องที่ยังเล็กและตาผู้ชราซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง  ทั้งสองคนกลายเป็นเด็กนอกระบบการศึกษา จาก ต.เมืองลีง จ.สุรินทร์

แต่แล้ววันนี้ ‘อ๋า’ และ ‘อั๋น’ ก็ได้กลับมามีโอกาสทางการศึกษาอีกครั้ง เมื่อได้รับการสำรวจผ่าน โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) และจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 20 จังหวัดต้นแบบสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ได้ร่วมมือกันค้นหาและช่วยเหลือเด็กนอกระบบให้มีโอกาสกลับคืนสู่เส้นทางการศึกษาอีกครั้ง โดย อ๋า และ อั๋น เป็นเด็กนอกระบบกลุ่มแรกในพื้นที่ ต.เมืองลีง อ.จอมพระ ซึ่งเป็น 1 ใน 25 พื้นที่นำร่องของ จ.สุรินทร์ ที่ได้กลับเข้าสู่การศึกษาในระบบ กศน. ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 ที่เพิ่งเปิดเรียนไป  

จิรนันท์ เครือจันทร์ ครูผู้ลงพื้นที่ค้นหาและดูแลเด็กนอกระบบ ต.เมืองลีง เล่าว่า อ๋าและอั๋น คือเด็กจำนวน 2 จาก 17 คนแรกที่ได้เข้าเรียนในเทอมนี้ โดยจากการลงพื้นที่ใน 18 หมู่บ้านของ ต.เมืองลีง ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2562 เพื่อค้นหาเด็กนอกระบบตามรายชื่อที่ต้องทำการสำรวจ 358 คน เบื้องต้นสามารถนำเด็ก 30 คนเข้ามาอยู่ในความดูแล และส่งเข้าเรียนได้ทันที 17 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมและมีความประสงค์อยากเรียนด้วยตนเอง ทาง อบต. จึงได้ร่วมมือกับ กศน. เมืองลีง ในการส่งเด็กเข้าระบบการศึกษานอกโรงเรียน เนื่องจากบางคนยังต้องทำงานไปด้วย และเด็กส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยที่ไม่พร้อมกลับไปเรียนในระบบการศึกษาปกติตามระดับชั้นของเขาได้

จิรนันท์ เครือจันทร์ ครูผู้ลงพื้นที่ค้นหาและดูแลเด็กนอกระบบ ต.เมืองลีง

“อายุเฉลี่ยของเด็กที่เราพบอยู่ที่ 18-19 ปี แต่ชั้นเรียนที่เขาหลุดออกมาจะเป็นช่วง ม.1-ม.2 กับอีกส่วนที่จบ ม.3 มาหลายปีแล้วไม่ได้เรียนต่อ หลังจากพูดคุยกับเด็กและผู้ปกครองเพื่อหาแนวทาง ทุกคนยืนยันว่าอยากกลับไปเรียนต่อในระบบ กศน. เพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาเป็นลำดับแรก ก่อนมองถึงช่องทางศึกษาต่อในสาขาวิชาชีพที่ตนสนใจต่อไป”

กรณีของ “อ๋า หรือ ธนกร” ในฐานะพี่คนโตของบ้าน เขาตัดสินใจลาออกออกจากโรงเรียนระหว่างเรียนชั้น ม.1 เพราะเห็นว่าการที่พ่อต้องทำงานรับจ้างแลกค่าแรงวันละ 300 เพียงลำพัง เพื่อเลี้ยงดูสมาชิก 6 คนในครอบครัว ที่ประกอบด้วยตา ยาย ตัวเขากับน้อง และแม่ที่พูดไม่ได้ เป็นภาระที่หนักเกินกว่าจะส่งเสียให้เขากับน้องได้เรียนพร้อมกัน อ๋าจึงยกเครื่องแบบนักเรียน กระเป๋า รองเท้า และอุปกรณ์การเรียนทั้งหมดให้น้อง ส่วนตัวเขาไปทำงานเป็นเด็กยกเครื่องเสียงให้กับวงดนตรีหมอลำในหมู่บ้าน ตระเวนรับงานตามวัด หรืองานบวชงานบุญต่าง ๆ มีรายได้ที่ไม่แน่นอน แต่ค่าจ้างน้อยนิดที่อ๋าได้รับ ก็ยังสามารถนำมาช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อได้บ้าง หรือแม้แต่ในตอนที่พ่อต้องออกไปขายแรงงานในจังหวัดอื่นและพาแม่ไปด้วย อ๋าก็จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการดูแลตายายและน้องให้มีข้าวกิน และช่วยตากับยายจัดการงานต่าง ๆ ในบ้าน

น้อง "อ๋า ธนกร"

ขณะที่ อ๋า บอกว่า เขาเคยคิดว่าอยากเรียนในสายอาชีพ แต่รู้ว่ามีวุฒิแค่ ป.6 คงไม่สามารถทำได้ ตอนที่ไปทำงานยกเครื่องเสียงผ่านไปหลายปี ก็เกือบจะเลิกคิดไปแล้วว่าอยากเรียนหนังสือ แต่พอมาถึงวันนี้ ตนได้กลับมาเรียนจริง ๆ ก็คิดว่าจะเรียนให้จบได้วุฒิ ม.3 ก่อน จากนั้นจะไปสมัครเรียนสายอาชีพอย่างที่ตั้งใจไว้ พร้อมกับวางแผนจะเรียน กศน. เพื่อให้ได้วุฒิ ม.6 ควบคู่ไปด้วย

ด้าน “อั๋น หรือ สมยศ” พี่คนรองของครอบครัวจากพี่น้องทั้งหมด 4 คน ที่เรียนจบชั้น ม.3 ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.2 แต่อนาคตหยุดเพียงเท่านั้น เนื่องจากทางบ้านต้องใช้เงินกับการตั้งครรภ์ลูกคนที่ 4 ของแม่ ขณะที่น้องคนถัดจากอั๋นก็ต้องเรียนให้จบชั้น ม.3 ค่าใช้จ่ายที่พ่อหาได้จากการทำงานโรงปูน จึงไม่เพียงพอสำหรับการศึกษาของลูก ๆ ทุกคน

หลังไม่ได้เรียนต่อ อั๋นไปช่วยพ่อทำงานในโรงปูน ได้ค่าแรงวันละประมาณ 400 บาท แลกกับงานที่ต้องใช้ร่างกายอย่างหนักในการงัดปูน ด้วยร่างกายของอั๋นในวัย 15 ซึ่งยังไม่พร้อมสำหรับงานที่หนักขนาดนั้น เขาอดทนทำอยู่ได้ช่วงหนึ่ง จึงย้ายไปทำงานในโรงดอกไม้ มีหน้าที่ตกแต่งพวงหรีด แล้วด้วยภาระมากมายในบ้านซึ่งเกินกว่าที่แม่ของอั๋นจะรับคนเดียวไหว อั๋นต้องออกจากงานกลับมาอยู่บ้าน เพื่อช่วยแม่ดูแลน้องที่ยังเล็ก รวมถึงตาที่ล้มป่วยจนเดินไม่ได้ ตั้งแต่นั้นอั๋นก็เลิกคิดถึงโรงเรียน ทั้งที่จากผลการเรียนที่เคยทำได้ดี ทำให้เขาเคยวาดความฝันถึงปลายทางของการศึกษาไว้ไกลลิบ

ครูจิรนันท์ เล่าถึงอั๋นว่า ที่อั๋นไม่ได้เรียนต่อเพราะที่บ้านไม่มีเงินส่งค่าเทอม ไม่มีเงินค่ารถให้น้องเขาไปโรงเรียน กระทั่งหลังจากอั๋นเรียนจบเขายังคงค้างค่าเทอมกับทางโรงเรียน ทำให้อั๋นไม่ได้ไปเอาวุฒิการศึกษาชั้น ม.3 ด้วยซ้ำ

“ที่เราเสียดายคือเขาเป็นเด็กเรียนดี เขาทำคะแนนวิชาภาษาอังกฤษได้ดีมาก ชอบทำพวกงานฝีมือ แล้วเขาแสดงให้เห็นว่ากระตือรือร้นอยากจะเรียนหนังสืออยู่ตลอด แต่ว่าทางบ้านไม่มีเงินทุนให้เขาจริง ๆ อั๋นจึงต้องออกไปทำงาน จากนั้นก็กลับมาอยู่บ้านช่วยแม่เลี้ยงน้อง ตาเขาก็พิการเดินไม่ได้ ต้องมีคนคอยดูตลอด”

ตอนชักชวนให้อั๋นไปเรียนอีกครั้ง สิ่งแรกที่ต้องทำคือพาอั๋นกลับไปที่โรงเรียนเพื่อรับวุฒิ ม.3 จากนั้นจึงพาเขาไปสมัครเรียน กศน. เพื่อเรียนให้ได้วุฒิ ม.6  ซึ่งใจจริงแล้วอั๋นอยากเรียนในโรงเรียน แต่ติดว่าเขายังต้องช่วยที่บ้านทำงานหลายอย่าง กศน. จึงเป็นการเรียนที่เหมาะสมกับอั๋นในเวลานี้ ครูผู้ดูแลเด็กนอกระบบ กล่าว

น้อง "อั๋น สมยศ" เด็กนอกระบบ ที่ได้รับโอกาสเข้ามาเรียนในระบบอีกครั้ง หลังต้องออกจากโรงเรียนเพราะปัญหาเศรษฐกิจ

ในความรู้สึกของอั๋น ซึ่งเล่าความในใจว่า หลังได้กลับไปเรียนอีกครั้งว่า หลังจากจบ ม.3 แล้วต้องไปทำงาน เคยเสียใจเวลาที่เห็นเพื่อนคนอื่นได้ใส่ชุดนักเรียนมัธยมปลาย คิดว่าทำไมตัวเราไม่มีโอกาสได้ใส่บ้าง หรือตอนนี้ที่เพื่อนรุ่นเดียวกับเราเขากำลังวางแผนกันว่าจบ ม.6 แล้วจะไปต่อมหาวิทยาลัยไหน จะเลือกเรียนคณะอะไร ทำไมเราถึงได้แต่บอกกับตัวเองว่า เราลำบาก เราไม่มีเงิน เราก็ต้องทำงาน นั่นเป็นทางเดียวที่เราถึงจะได้มีเหมือนคนอื่น ๆ เขาบ้าง แต่ดูไปแล้วสิ่งที่เคยคิดเคยฝันไว้นับวันก็ยิ่งห่างไกลเหลือเกิน

บางครั้งเราก็คิดไปว่า ชีวิตของเรากับโรงเรียนคงมาได้เพียงเท่านี้ แล้วที่เราต้องทำคือไปทำงาน ดูแลบ้าน หาเงินดูแลครอบครัวให้ได้ แต่เรายังจำได้เสมอว่าตั้งแต่เด็ก เราฝันว่าในอนาคตเราอยากทำงานพวกออกแบบเสื้อผ้า หรืองานแต่งหน้า ออกแบบทรงผม แม้ว่าที่ผ่านมาแทบจะเลิกคิดเลิกฝันไปแล้วว่าจะไปถึงตรงนั้นได้ แต่ตอนนี้เมื่อได้กลับไปเรียน ก็คิดว่าจะต้องได้วุฒิ ม.6 เป็นอย่างแรก แล้วเราอยากจะเรียนต่อในสาขาวิชาชีพที่เราอยากทำ เรารู้ว่าสิ่งที่คิดที่ฝันเป็นเรื่องที่ยังอีกไกล แต่การได้เริ่มก้าวแรกที่การกลับมาเรียนหนังสือ ก็เป็นกำลังใจให้เราได้กล้าคิดและมุ่งหน้าทำตามความฝันต่อไป

สำหรับ อั๋น และ อ๋า นับเป็นผลผลิตเล็กของความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันช่วยเหลือ จึงเป็นเรื่องที่สังคมไทยทั้งประเทศสามารถร่วมมือกัน เพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ เหล่านี้ ให้พวกเขาได้กลับมามีความฝัน ความหวัง และมีกำลังใจในการต่อสู้ชีวิตอีกครั้ง

Related Posts

Send this to a friend