FEATURE

‘คนกับสัตว์’ EP2 สุนัข มิตรสหายต่างสายพันธุ์ เพื่อนซี้สี่ขาที่เป็นมากกว่าสัตว์เลี้ยงของมนุษย์

สุนัข เป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ที่มีการเรียนรู้ และปรับตัวเข้ากับสังคมมนุษย์มาอย่างยาวนาน เห็นได้จากหลักฐานทางโบราณคดี รวมถึงภาพวาดบนผนังถ้ำ ซึ่งสะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสุนัข แม้แรกเริ่มจะเป็นไปเพื่อการใช้งาน แต่สุนัขได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์ ในฐานะของสมาชิกในครอบครัวของมนุษย์ สร้างความผูกพันระหว่างสองสายพันธุ์เข้าด้วยกัน

ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์จะวางอยู่บนลักษณะเชิงอำนาจ และการควบคุม (โดยมนุษย์) แต่ทั้งสองสายพันธุ์ต่างพยายามที่จะเรียนรู้เพื่อจะอยู่ร่วมกันผ่านอวัจนภาษา รวมถึงพยายามจะรับรู้ความรู้สึกของกันและกัน สิ่งนี้เองที่ทำให้ความหมายของสุนัขจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่สัตว์เลี้ยง แต่เป็นสายพันธุ์ที่มนุษย์พยายามเข้าใจ และเปิดพื้นที่ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว

บทความชิ้นนี้จึงชวนทุกคนมารู้จักแง่มุมเพิ่มเติมของสุนัข เพื่อร่วมสายพันธุ์ของมนุษย์อย่างยาวนาน พร้อมเข้าใจบริบทความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสุนัขที่พัฒนามาสู่สังคมยุคดิจิทัลที่ซึ่งมนุษย์เองบันทึกเรื่องราวของสุนัขไว้บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่สุนัขโผล่อยู่บนโลกออนไลน์ของมนุษย์จำนวนมาก

จากป่ามาอยู่บ้าน: การเกิดขึ้นของ ‘สุนัขบ้าน’

หากเจาะลึกถึงที่มาของสุนัขที่อาศัยอยู่ตามป่าจนวิวัฒนาการเขยิบเข้ามาในสังคมมนุษย์กลายเป็น สุนัขบ้าน ต้องอาศัยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์เข้ามาประกอบคำอธิบายเพื่อเข้าใจมากขึ้น งานของ วิภู กุตะนันท์ (2558) เรื่อง ต้นกำเนิดของสุนัขบ้าน หลักฐานทางโบราณคดีและพันธุศาสตร์ ช่วยประกอบภาพของวิวัฒนาการของสุนัขที่เปลี่ยนผ่านจากสุนัขป่า เข้าสู่การเป็นสุนัขบ้าน สายพันธุ์ที่มนุษย์คุ้นชินในปัจจุบัน

ในทางโบราณคดี มีการศึกษา และพูดถึงต้นกำเนิดของสุนัขบ้าน โดยมีข้อสรุปว่าอาจสืบเชื้อสายมาจาก หมาป่า (wolf) อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปว่าสุนัขบ้านเกิดขึ้นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือหลายพื้นที่ ยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกัน จากการศึกษาดีเอ็นเอไมโทคอนเดรีย มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า สุนัขบ้านมีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อประมาณ 10,000-6,000 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การศึกษาจากนักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่ม ระบุว่าถิ่นกำเนิดของสุนัขบ้านอาจมาจากบริเวณตะวันออกกลาง และยุโรป แต่ยังคงไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน

มนุษย์โบราณมีการนำสุนัขป่าเข้ามาเลี้ยงเพื่อเป็นส่วนหนึ่ง รวมถึงช่วยในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์สมัยก่อนเป็นลักษณะแบบเก็บของป่าล่าสัตว์ ทำให้จำเป็นที่จะต้องเดินทางเร่ร่อนไปตามสภาพแวดล้อมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในแต่ละรอบ มนุษย์จึงมีการคัดเลือกสุนัขป่าที่มีขนาดตัวเล็กเพื่อให้ขนย้าย และเดินทางได้สะดวก รวมถึงลดปริมาณอาหารที่จะให้ลง นักวิชาการมองว่านี่จึงเป็นสาเหตุที่วิวัฒนาการจากสุนัขป่ามาสู่สุนัขบ้านจึงมีขนาดตัวที่เล็กลง

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ (2565) ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์และสุนัขเป็นสิ่งมีชีวิตสองสายพันธุ์ที่ปรับตัวเข้าหากันมาอย่างยาวนาน บรรพบุรุษของมนุษย์นำสุนัขป่ามาเลี้ยงและใช้งานเมื่อประมาณ 15,000 ปีก่อน โดยมีหลักฐานโครงกระดูกของมนุษย์ที่ฝังอยู่ร่วมกับโครงกระดูกของลูกสุนัขอายุประมาณ 6 เดือน รวมถึงหลักฐานภาพเขียนสีในถ้ำหลายแห่งที่ปรากฏภาพของสุนัขในกิจกรรมของมนุษย์ช่วง 6,000 ปีก่อน

ขณะเดียวกัน บรรณษรณ์ คุณะ (2567) อธิบายว่า หลักฐานทางโบราณคดีประเภทกระดูกสุนัข และภาพเขียนสี พบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทำให้เชื่อว่าวิวัฒนาการทางสังคมของมนุษย์เกิดขึ้นไปพร้อมกับการที่มนุษย์รู้จักเลี้ยงสุนัขเพื่อใช้ประโยชน์ โดยมากอยู่ในช่วงสมัยสังคมเกษตรกรรม ซึ่งอาจเป็นไปเพื่อ:

1.เลี้ยงไว้ออกล่าสัตว์ร่วมกับคน ทั้งใช้ล่าเหยื่อ ควบคุมสัตว์ชนิดอื่น รวมถึงใช้สะกดรอยค้นหาสัตว์

2.เลี้ยงเพื่อบริโภคเป็นอาหาร แต่ไม่ใช่อาหารหลักของมนุษย์

3.ใช้เป็นเครื่องอุทิศให้กับคนตาย พบกระดูกสุนัขฝังร่วมมนุษย์

สุนัขและมนุษย์ สองสายพันธุ์ที่โคจรบรรจบกัน

ในวิทยานิพนธ์ของ พนา กันธนา (2560) เรื่องหมาที่ไม่หมาหมา: กำเนิดและปฏิบัติการของความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมสัตว์เลี้ยงในสังคมไทยสมัยใหม่ ช่วงหนึ่งได้อธิบายถึงประวัติศาสตร์ของสุนัขที่มีการเปลี่ยนผ่านมาสู่สังคมมนุษย์สมัยใหม่ผ่านวัฒนธรรมสัตว์เลี้ยง (pet culture)

การก่อตัวของวัฒนธรรมการเลี้ยงสุนัขมีจุดเริ่มต้นมาจากโลกตะวันตกก่อนจะแผ่อิทธิพลมายังสังคมไทยตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา เดิมทีความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์และมนุษย์วางอยู่บนลักษณะของ สภาวะคู่ขนาน (parallelism) ที่มนุษย์และสัตว์ถูกมองว่าเป็นสิ่งแยกจากกัน แต่อยู่ร่วมกันในรูปแบบของการพึ่งพาอาศัยกัน การก่อตัวขึ้นของเมืองได้แยกความเป็นป่า (ธรรมชาติ) และเมือง (สังคมมนุษย์) ออกจากกัน เมืองกลายเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ขณะที่สัตว์อยู่อาศัยในธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ชุดความคิดของมนุษย์ที่พยายามดึงเอาธรรมชาติเข้ามาอยู่ในสังคมมนุษย์ค่อย ๆ ขยายตัวขึ้นไปพร้อมกับการก่อตัวขึ้นของวัฒนธรรมสัตว์เลี้ยง มนุษย์เริ่มนำสัตว์เข้ามาอยู่ในเมือง สิ่งนี้ได้ทลายภาวะคู่ขนานระหว่างคนและสัตว์ แต่เป็นในเชิงที่มนุษย์สถาปนาอำนาจตัวเองอยู่เหนือกว่าสัตว์ผ่านการควบคุม

ในสังคมตะวันตก การขยายตัวของเมืองอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 ทำให้คนเมืองเกิดความรู้สึกโหยหาธรรมชาติ การเลี้ยงสัตว์จึงกลายเป็นสิ่งที่มาเติมเต็มความรู้สึกดังกล่าว สุนัขจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทและปรากฏในสังคมเมืองของมนุษย์มากขึ้น

ในบริบทการใช้ชีวิตสมัยใหม่ วัฒนธรรมสัตว์เลี้ยงได้ทำให้คุณค่า และการมองสัตว์เลี้ยงแตกต่างไปจากคุณค่าเพียงเพื่อการใช้ประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีแง่มุมของคุณค่าเชิงอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง วิธีคิดเหล่านี้ได้เปิดพื้นที่ให้สุนัขเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในครอบครัวของมนุษย์ผู้เลี้ยง

การสถาปนาของวัฒนธรรมสัตว์เลี้ยง

ในสังคมตะวันตก สุนัขเริ่มกลับเข้ามาอยู่ในสังคมมนุษย์อีกครั้งหลังจากมีการแยกความเป็นสังคมเมืองมนุษย์ออกจากธรรมชาติ สุนัขเข้ามาในฐานะของสัตว์เลี้ยงของชนชั้นสูงในประเทศอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 19 สุนัขจึงกลายเป็นสิ่งบ่งชี้สถานะทางสังคมของมนุษย์ ช่วงนี้เองที่ทำให้กิจกรรม หรืองานประกวดสุนัขเริ่มปรากฏตัวออกมา รวมไปถึงสมาคมที่มีบทบาทต่อสุนัขได้ก่อตั้งขึ้น วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสายพันธุ์สุนัขกำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น นำไปสู่การกำหนดมาตรฐานของสุนัขแต่ละสายพันธุ์

การขยายตัว และการเกิดขึ้นของสถาบันที่เกี่ยวข้องของสุนัข ทำให้วัฒนธรรมการเลี้ยงสุนัขค่อย ๆ แผ่จากสังคมชนชั้นสูงไปสู่ชนชั้นต่าง ๆ สุนัขเริ่มค่อย ๆ ปรากฏตัวอยู่บนพื้นที่สื่อมากขึ้น ผ่านโฆษณา หนังสือ ละคร หรือแม้แต่ภาพยนตร์ ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงในด้านต่าง ๆ ทั้งอาหารสัตว์ รวมถึงของใช้ที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงอย่างปลอกคอ หรือสายจูง

ในสังคมไทย วัฒนธรรมสัตว์เลี้ยงเริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างแพร่หลายจากการปรากฏตัวบนพื้นที่สื่อต่าง ๆ รวมถึงชนชั้นนำในสังคม ภาพลักษณ์ของสุนัขในฐานะของ ‘เพื่อนที่แสนดี’ จึงถูกถ่ายทอดออกมาอย่างเด่นชัด สุนัขพันธุ์ที่ได้รับความนิยมที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ จึงเริ่มเป็นกระแสการเลี้ยงพันธุ์เหล่านี้ในไทยเพิ่มขึ้นซึ่งมาพร้อมกับองค์ความรู้ด้านสัตวแพทย์ที่เข้ามาในไทย พร้อมแยกการรักษาสัตว์เลี้ยงออกจากการรักษาสัตว์ในเชิงปศุสัตว์

อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้เกี่ยวกับสุนัข โดยเฉพาะการรักษา รวมถึงการสร้างคุณค่าของสุนัขผ่านสื่อต่าง ๆ ทำให้สุนัขกลายเป็นสัตว์สายพันธุ์ที่มีความหมายในเชิงอารมณ์ และความรู้สึกของมนุษย์ ในแง่นี้ พนา อธิบายว่า หมากลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่ไม่ใช่แค่การเลี้ยงสัตว์

เมื่อมนุษย์ตีความสุนัขเป็นเพียงวัตถุเพื่อใช้ประโยชน์

แม้สุนัขจะมีวิวัฒนาการร่วมในสังคมมนุษย์มาอย่างยาวนาน แต่เป็นไปเพื่อการฝึก และการใช้งานของมนุษย์ มนุษย์เลี้ยงดูสุนัขเพื่อให้สุนัขตอบสนองตามหน้าที่ที่มนุษย์ต้องการ ถึงจะเป็นไปในลักษณะของการพึ่งพาอาศัยระหว่างกัน แต่ต้องไม่ลืมว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวมาพร้อมกับลักษณะบนเส้นที่มนุษย์อยู่เหนือกว่า และมีอำนาจในการควบคุม หากสุนัขไม่สามารถปฏิบัติได้ตามความต้องการ อาจนำไปสู่การถูกทำร้าย และถูกทอดทิ้ง

Donna Haraway นำเสนอภาพของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ และวิวัฒนาการที่มีร่วมกันมายาวนานของมนุษย์และสุนัข ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้สุนัขถือเป็น มิตรสหายต่างสายพันธุ์ (Companion Species) ของมนุษย์

มนุษย์ฝึกสุนัขเพื่อใช้งานตามความต้องการ ขณะที่สุนัขเรียนรู้ที่จะตอบสนองต่อการกระทำของมนุษย์ เกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสองสายพันธุ์ อย่างไรก็ตาม มนุษย์พยายามทำให้สุนัขเป็นเหมือนคน และพยายามใช้สุนัขเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์เป็นหลัก

มนุษย์คาดหวังให้สุนัขต้องตอบสนองตามคำสั่ง หรือปฏิบัติตามกรอบที่มนุษย์ตั้งไว้ ซึ่งอาจทำไม่ได้เสมอไป สุนัขจึงตกเป็นเพียงเครื่องมือของมนุษย์เพื่อรองรับอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าการเป็น ‘เพื่อนต่างสายพันธุ์’ ที่อยู่ในบ้านของมนุษย์ การ ‘เห็นอกเห็นใจ’ ระหว่างสายพันธุ์มากขึ้น จะช่วยให้เราลดความคาดหวัง (ที่ต้องเป็นไปตามสิ่งที่มนุษย์ต้องการ) จากสุนัขลง และเข้าใจธรรมชาติของความเป็นสุนัขมากขึ้น เพื่ออยู่ร่วมกันในฐานะของ ‘มิตรสหายต่างสายพันธุ์’ จริง ๆ ในบ้านของมนุษย์เอง

Dogstagram สิ่งสะท้อน และบันทึกความทรงจำของมิตรสหายต่างสายพันธุ์

ในยุคปัจจุบันที่ทั้งโลกเชื่อมต่อเครือข่ายเข้าหากันอย่างรวดเร็ว มนุษย์ใช้สื่อส่วนตัวควบคุมข้อมูลและเผยแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง เราจะพบสุนัขปรากฏอยู่บนหน้าสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นภาพของสุนัขที่เจ้าของถ่ายไว้ให้เห็นถึงความน่ารัก รวมถึงพฤติกรรมเปิ่น ๆ ชวนหัวเราะ

Karli Brittz (2020) อธิบายถึงปรากฏการณ์ ‘Dogstagram’ ที่ซึ่งเรื่องราวของสุนัขถูกมนุษย์ถ่ายทอดครองหน้าฟีดบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการฝังภาพความสัมพันธ์ของมนุษย์และสุนัขลงไปในระบบดิจิทัล เทคโนโลยีถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของมิตรสหายต่างสายพันธุ์ระหว่างมนุษย์และสุนัข เรื่องราวของสุนัขที่อยู่บนรูปแบบของดิจิทัล เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่าง มนุษย์ สัตว์ และเทคโนโลยี ในสังคมร่วมสมัย

เดิมทีความสัมพันธ์มนุษย์และสัตว์ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านงานศิลปะ ภาพถ่าย และภาพยนตร์ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์มนุษย์วาดมนุษย์และสัตว์ลงบนผนังถ้ำ การมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้จึงเป็นหลักฐานการบันทึกประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสุนัขที่มีมาอย่างยาวนาน Dogstagram เองก็ทำหน้าที่เหมือนคลังเก็บข้อมูลของความสัมพันธ์เหล่านี้

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางส่วนมองว่า การถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ลงบนดิจิทัลเป็นเหมือนการสะท้อนถึงการกระทำที่มนุษย์ควบคุมเรื่องราวให้เป็นไปตามที่มนุษย์ต้องการก่อนจะตัดสินใจแชร์ภาพหรือวิดีโอ ไม่ใช่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสัตว์นั้น ๆ ซึ่ง Brittz มองว่าการถ่ายทอดเรื่องราวของสุนัขผ่านโลกดิจิทัล ต้องไม่ลืมความเป็นดิจิทัลที่มีเรื่องของการเชื่อมต่อ และการสื่อสารระหว่างกันเข้าไปด้วย

ดังนั้น Dogstagram จึงไม่ใช่แค่สิ่งที่ไว้ใช้บันทึกประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ แต่ยังเป็นชุมชนออนไลน์ที่ทำให้ ‘ชุมชนเสมือนจริง’ (Virtual Community) ที่ซึ่งผู้คนไม่เพียงแต่แชร์เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสุนัข แต่ยังแชร์เรื่องราวสวัสดิภาพของสุนัขในแง่มุมต่าง ๆ เกิดเป็นชุมชนของคนรักสุนัขที่เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งปันเรื่องราวของสุนัข และมีการออกมาพบเจอในโลกออฟไลน์เพื่อทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุนัขร่วมกัน

ในแง่มุมนี้ Dogstagram ได้กระตุ้นให้มนุษย์ตอบสนอง และมีส่วนร่วมในการเล่าเรื่องของสุนัข โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อสุนัขอย่างมีจริยธรรม ทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการยับยั้งการทารุณกรรมสุนัข พฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุนัข รวมถึงส่งเสริมการรับเลี้ยงสุนัขที่ต้องได้รับการดูแล

เช่นเดียวกับมุมมองของ Haraway การสนับสนุนการบอกเล่าเรื่องราวของสุนัข เป็นแง่มุมหนึ่งที่ส่งเสริมให้มนุษย์ตระหนักถึง การปฏิบัติต่อมิตรสหายต่างสายพันธุ์แบบมีความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ซึ่ง Brittz มองว่า ดิจิทัลจะเป็นส่วนหนึ่งสำหรับการสนับสนุนการบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสุนัขที่กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางอารมณ์ และความรับผิดชอบระหว่างผู้ใช้ ผู้ชม และสุนัข

ไม่ใช่แค่สุนัข แต่มนุษย์เองก็เรียนรู้จากการอยู่ร่วมกัน

สุนัขมีลักษณะการตอบสนองต่อมนุษย์ที่เด่นชัดกว่าสัตว์สปีชีส์อื่น ๆ แสดงถึงการเรียนรู้ของสายพันธุ์ที่มีต่อมนุษย์อย่างเหนียวแน่นและยาวนาน นั่นจึงทำให้มนุษย์เปิดพื้นที่ให้สุนัขเข้ามาอยู่ในสังคมของมนุษย์เป็นพิเศษ สุนัขจึงอยู่ในฐานะของสัตว์สี่ขาเพื่อนแสนดีของมนุษย์ และถูกอธิบายถึงการมีอยู่เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปของมนุษย์ ทั้งความโดดเดี่ยวจากภาวะสังคมเมือง หรือแม้แต่การใช้งานในบริบทสังคมปัจจุบันอย่างการดมกลิ่นหาวัตถุ หรือการกู้ภัย

มนุษย์ดูเหมือนจะตกอยู่ในสถานะเจ้านายที่กำลังบงการชีวิตสุนัขให้เป็นไปในแบบที่ต้องการ ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนไม่ปฏิเสธที่มนุษย์มีอำนาจในการครอบงำสัตว์ แต่การมองสุนัขเป็นเพียงเครื่องมือใช้งานเพียงอย่างเดียวก็ดูเป็นการลดทอนความหมาย และตัวตนของสุนัข และมองข้ามความหมายที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ของเจ้าของ และสุนัข ซึ่งนำไปสู่ความเป็นไปได้ของการเรียนรู้ระหว่างสองสายพันธุ์เช่นกัน

ช่วงหนึ่งของการศึกษาความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (non-human) เราเคยสถาปนาความเข้าใจโลกผ่านสายตาของมนุษย์เอง แล้วจัดแบ่งที่ทางของสรรพสิ่งให้แยกขาดจากสังคมมนุษย์ ธรรมชาติกลายเป็นเพียงวัตถุ (object) ที่มนุษย์หยิบจับมาใช้ประโยชน์ เช่นเดียวกัน มุมมองเหล่านี้ทำให้เรามองสัตว์เป็นหนึ่งในวัตถุหนึ่งที่มนุษย์เข้าไปใช้ประโยชน์สำหรับชีวิตมนุษย์ ซึ่งอาจมองข้ามถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนไป

สำหรับสุนัข เราเห็นถึงความพยายามเข้าใจอารมณ์ผ่านสีหน้า แววตา ท่าทาง และพฤติกรรมที่ตอบสนองระหว่างกัน เราฝึกสุนัขให้ปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งดูเหมือนการครอบงำ แต่ต้องไม่ลืมว่าเรากำลังแลกเปลี่ยนกับสุนัขด้วยขนมที่เหล่าสุนัขกำลังรอเป็นรางวัลหลังจากปฏิบัติตามสัญญาณ จะจริงแล้วอาจเป็นหนึ่งในข้อตกลงร่วมกันสำหรับการอยู่ร่วมกันก็เป็นได้

ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยถูกสุนัขกัดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์เกิดขึ้นเนื่องจากเดินผ่านโรงงานที่พนักงานคอยให้อาหารแก่สุนัขจร ละแวกใกล้เคียงจนเป็นกิจลักษณะ เมื่อถูกสุนัขกัด แน่นอนว่าเรากลัวที่จะถูกทำร้ายต่อ แต่เมื่อหันกลับไป สุนัขตัวนั้นกลับวิ่งหนีโหยง ๆ กลับเข้าโรงงานแทนที่จะวิ่งฟัดต่อ

ผมเข้าไปโรงงานเพื่อแจ้งให้พนักงานทราบ ก่อนที่พนักงานจะขับรถไปส่งที่โรงพยาบาล แต่ก่อนหน้านั้นเจ้าสุนัขตัวนั้นที่ผมกลัวจะกลับมาขย้ำ กลายเป็นวิ่งเข้าไปมุดใต้รถดูท่าที ดูแล้วไม่เหมือนลักษณะของสุนัขที่อยากจะทำร้ายมนุษย์เป็นว่าเล่น ส่วนแผลที่ผมได้ ก็เป็นรอยแผลที่เกิดจากฟันสุนัขถาก ๆ แต่ไม่ใช่รอยที่มีฟันแทงขย้ำลึกเข้าไป แน่นอนว่ายังไงก็ต้องฉีดวัคซีนไว้ก่อนอยู่ดี

เมื่อเวลาผ่านไปกลับมานั่งตกผลึกกับตัวเองว่า บางทีเราอาจแค่ไม่เข้าใจสุนัขจรเหล่านี้ที่หวงแหนพื้นที่อาศัยที่มีอาหาร และที่พักให้ ไม่มีหลักฐานเด่นชัดที่เข้าใจได้ว่าเจ้าสุนัขตัวนี้คิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร แต่การเป็นสุนัขจรคงไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนกับสุนัขที่มีเจ้าของ มีบ้านปักหลัก ผมสังเกตได้ว่า ไม่ใช่แค่ผมที่กลัว แต่เจ้าสุนัขตัวนี้เองก็กลัวผมเช่นกัน การแสดงออกของสุนัขบางทีอาจเป็นความหวงแหนพื้นที่ที่มีมนุษย์ใจดีให้อาหารประทังชีวิตให้รอดในแต่ละวัน เมื่อคิดได้แบบนี้ก็คงไม่แปลกที่สุนัขจรจะไม่ไว้วางใจมนุษย์อื่นเข้ามาใกล้ในพื้นที่ที่เป็นเซฟโซนของมันเอง

การมีอยู่ของสุนัขเหล่านี้ อาจไม่ใช่ที่ทางที่ควรจะเป็นสำหรับสังคมมนุษย์ที่ต้องการให้พื้นที่เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่โลกของสุนัขที่ทับซ้อนกันระหว่างพื้นที่ในบ้านของมนุษย์ และธรรมชาติ หลังจากที่วิวัฒนาการแยกตัวออกมาจากพื้นที่ป่ามาอย่างยาวนานแล้ว และมีบางส่วนที่ยังคงดำรงอยู่ในพื้นที่ละแวกบ้านเรือนของมนุษย์ ไม่ใช่ในบ้านของมนุษย์ ซึ่งมนุษย์เองควรมีส่วนต่อการรับผิดชอบในเชิงจริยธรรมด้วยเช่นกัน

เราอาจเข้าใจว่า สุนัขจรเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อผู้คนที่สัญจรไปมา แต่ขณะเดียวกัน สุนัขจรเหล่านี้เองก็มักตกเป็นเหยื่อการกระทำของมนุษย์ที่ต้องการหาที่ระบายอารมณ์อย่างไร้ศีลธรรม เพียงเพราะ ‘สุนัขไม่ใช่มนุษย์’ และ ‘ไม่มีเจ้าของ’ จึงสามารถปฏิบัติอย่างไรก็ได้ ?

หากมนุษย์พยายามโอบรับกับความหลากหลายในสังคม แล้วจะเป็นเช่นไรหากมนุษย์ควรที่จะต้องรู้จักโอบรับต่อความหลากหลายของเพื่อนต่างสายพันธุ์ร่วมโลกที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนานอย่างสุนัข มนุษย์เลี้ยงสุนัขได้ก็จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อสุนัขที่ตัวเองนำมาเลี้ยง ไม่ใช่การปล่อยทิ้งไว้ข้างทางเมื่อรู้สึกเบื่อหน่าย หรือไม่ได้ดั่งใจ

เมื่อสุนัขเรียนรู้ที่จะอยู่ในบ้านของมนุษย์ได้ มนุษย์เองก็ควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับสุนัขด้วยความเห็นอกเห็นใจ มากกว่าแค่ตอบสนองตามความต้องการของตัวเองเพียงอย่างเดียว

ผู้เขียน ณัฐภัทร ตระกูลทวีสุข

อ้างอิง

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (2565). คนกับหมา: มานุษยวิทยาของสหายต่างสายพันธุ์. https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/300?fbclid=IwY2xjawJbM2ZleHRuA2FlbQIxMAABHe_mTNK39zU76tt8t7ciSe-BG8tgFEe8kCT-HeQrV0o2afhRDEj8B8IKTA_aem_8e81jfrbmkqDWMxEQwqDgA.

บรรณษรณ์ คุณะ. (2567). “สุนัข” ว่าด้วยประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมสัตว์เลี้ยง. https://www.silpa-mag.com/history/article_100659.

พนา กันธา. (2560). “หมา”: ประวัติศาสตร์ว่าด้วยสัตว์เลี้ยงที่ไม่ใช่แค่การเลี้ยงสัตว์. วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 42 (1), 166-182.

วิภู กุตะนันท์. (2558). ต้นกำเนิดของสุนัขบ้าน หลักฐานทางโบราณคดีและพันธุศาสตร์. Thai Journal of Genetics. 8 (1), 1-11.

อนันต์ สมมูล. (2565). The Companion Species Manifesto: Dogs, People, and Significant otherness เขียนโดย Donna Haraway. https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/312.

Karli Brittz. (2020). Dog Stories in the Digital Age: Dogstagrams as Digital Tales of Becoming with Companion Species. Junctions Graduate Journal of the Humanities, 5(1), 41-61.

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat