EVENT

สมาคมประกันวินาศภัยไทยศึกษาดูงานประกันภัยการเกษตรที่จีน

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า คณะทำงานฯ ได้เข้าเยี่ยมชมกิจการของบริษัท ไชน่า แปซิฟิก อินชัวรันส์ (กรุ้ป) จำกัด (CPIC) ซึ่งเป็นบริษัทประกันวินาศภัยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจีน และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ พร้อมทั้งเข้าเยี่ยมชมกิจการของบริษัท อันซิ่น อกริคัลเจอรัล อินชัวรันส์ จำกัด (AAIC) ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการประกันภัยการเกษตรแห่งแรกของจีน และเป็นบริษัทในเครือของ CPIC โดยทางบริษัทมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้กับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร อาทิ การประกันภัยที่อ้างอิงดัชนีสภาพภูมิอากาศ (Weather Index Insurance) การประกันภัยที่อ้างอิงดัชนีราคาพืชผลทางการเกษตร (Price Index Insurance) การประกันภัยรายได้/ผลผลิตทางการเกษตร (Income/Yield Insurance) การประกันภัยภัยพิบัติ (Catastrophe Insurance) การประกันภัยพืชผลพิเศษเฉพาะท้องถิ่น (Local Special Crop Insurance) และ การประกันภัยเครื่องมือเครื่องจักรกลทางการเกษตร (Agriculture Machinery Insurance) ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้เข้าเยี่ยมชมกิจการของ CPIC และลงพื้นที่สำรวจแปลงนาข้าว ณ เมืองซูโจว ซึ่งทาง CPIC ได้สาธิตการนำเทคโนโลยีระบบ 5G ระบบดาวเทียม และโดรน เข้ามาใช้ในการพิจารณารับประกันภัย การประเมินความเสี่ยงภัย และการประเมินความเสียหายของแปลงนาข้าว

ตลาดประกันภัยการเกษตรของจีนนับเป็นตลาดประกันภัยขนาดใหญ่ของโลก โดยในปี 2018 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมมูลค่ากว่า 57,260 ล้านหยวน (ประมาณ 246,220 ล้านบาท) นับได้ว่ามีขนาดตลาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของเอเชีย และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับ CPIC นั้นเป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยสูง และมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 3 ของตลาดการประกันภัยการเกษตรของจีน โดยในปี 2018 นั้น CPIC มีเบี้ยประกันภัยรับจากการประกันภัยทางการเกษตรรวม 5,045 ล้านหยวน (ประมาณ 21,694 ล้านบาท)

นายกี่เดช ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันการประกันภัยทางการเกษตรในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความก้าวหน้าเป็นอันมาก นอกจากมีการจัดการบริหารความเสี่ยงให้กับเกษตรกรด้วยการนำระบบการประกันภัยซึ่งมีกรมธรรม์ประเภทต่าง ๆ ครอบคลุมพืชผลทางการเกษตรหลากหลายกว่า 40 ชนิดแล้ว ยังรวมถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (กุ้ง ปลา ปูขน) ปศุสัตว์ (Livestock) สัตว์ปีก (Poultry) และปลาสวยงาม (Beautiful Fish) เช่น ปลาคาร์ฟ และยังมีการนำเทคโนโลยีอันทันสมัย เช่น ระบบดาวเทียม โดรนไร้คนขับ ระบบ AI และ Application ต่าง ๆ มาใช้บริหารในการตรวจสภาพดินฟ้าอากาศ เพื่อสร้างผลิตผลทางการเกษตรให้มีความมั่งคั่งและยั่งยืนกับเกษตรกรของประเทศ ด้วยการขับเคลื่อนจากภาครัฐและเอกชนอย่างเข้มแข็งและจริงจัง”

“สำหรับการประกันภัยพืชผลในประเทศไทยนั้น มีการประกันภัยข้าวนาปี เริ่มตั้งแต่ปี 2554 และ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เริ่มตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเป็นโครงการภาครัฐร่วมกับเอกชน (Public Private Partnership (PPP)) ร่วมกันบูรณาการขับเคลื่อนโครงการนี้ นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทยและภาคธุรกิจประกันภัย ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน ยังได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดให้มีการรับประกันภัยการเพาะปลูกต้นลำไยและต้นทุเรียน การประกันภัยโคนม การประกันภัยเรือประมง ดังนั้น การศึกษาดูงานในครั้งนี้ทำให้คณะทำงานได้เรียนรู้ เล็งเห็นช่องทางและโอกาสในการขับเคลื่อนการประกันภัยพืชผลในประเทศไทยเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับเกษตรไทยต่อไป” นายกี่เดช กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend