งานวิจัย 3 ชุมชนลุ่มน้ำโขง ชี้ นิเวศลุ่มน้ำโขงและวิถีชีวิตชุมชนเปลี่ยนแปลงหนัก
งานวิจัย 3 ชุมชนลุ่มน้ำโขง ชี้ นิเวศลุ่มน้ำโขงและวิถีชีวิตชุมชนเปลี่ยนแปลงหนัก ปริมาณปลา-พื้นที่ป่าชุ่มน้ำลดลง เสนอรัฐบาล 5 ประเทศ เร่งฟื้นฟู พร้อมแก้ไขผลกระทบ
นักอนุรักษ์ไทยจำนวนหนึ่งได้ลงพื้นใน จ.สตรึงเตร็ง ประเทศกัมพูชา เพื่อติดตามการทำงานขององค์กร My Village Organization ซึ่งทำงานด้านการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมของกัมพูชาร่วมกับชุมชนชายแดนกัมพูชาและลาว ทำงานร่วมกับนักวิจัยชุมชนใน 3 หมู่บ้าน คือ บ้านกรอม บ้านเกาะเสนง และบ้านตวนซอง ถึงสาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศที่อยู่อาศัยของปลาและวิถีชีวิตของชาวบ้านทั้ง 3 หมู่บ้านในลุ่มน้ำโขง ตั้งอยู่ท้ายน้ำของเขื่อนดอนสะโฮง ประเทศลาว
พร จันชิดา นักวิจัยชุมชนบ้านกรอม กล่าวว่า ทรัพยากรแม่น้ำเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะปริมาณปลาที่ลดลง พื้นที่ป่าชุ่มน้ำลดลงมาก การขึ้นลงของแม่น้ำโขงที่ไม่เป็นปกติ โดยปริมาณการจับปลาบ้านกรอมลดลงมากถึง 80% บ้านตวนซองลดลง 50% และเกาะเสนง 30% โดยสาเหตุของการปริมาณปลาลดลง เนื่องจากประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการจับปลาที่ผิดกฎหมาย พื้นที่ป่าชุ่มน้ำลดลง และการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง
ผลการศึกษาพื้นที่ป่าชุ่มน้ำทั้ง 3 หมู่บ้าน พบว่าพื้นที่ป่าชุ่มน้ำลดลงมากว่า 50% โดยเฉพาะบ้านกรอมมีพื้นที่ป่าลดลง 50% เกาะเสนงลดลง 30 % และบ้านตวนซองลดลง 20% สาเหตุหลักมาจากระดับน้ำของแม่น้ำโขงไม่เป็นปกติต่อเนื่องหลายปี รวมถึงการไหลหลากของน้ำที่แรงมากกว่าปกติ ทั้งนี้โดยธรรมชาติแล้ว ช่วงฤดูแล้งระดับน้ำโขงจะต้องมีน้ำลดลงมาก แต่หลายปีที่ผ่านมาปริมาณน้ำในฤดูแล้งไม่ลดลง แต่กลับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นไม้ในพื้นที่ป่าชุ่มน้ำไม่สามารถที่จะขยายพันธุ์และต้องแช่น้ำตายไปเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ คุณภาพน้ำของแม่น้ำโขงไม่สะอาดเหมือนเดิม เพราะมีคราบปูนซีเมนต์ไหลตามน้ำระหว่างการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงและแม่น้ำเซซาน ประกอบกับมีสาหร่ายหรือเทาเน่าจำนวนมาก ทำให้หอยและปลาขนาดเล็กตาย ปัจจุบันยังไม่รู้สาเหตุว่าทำไมจึงเกิดสาหร่ายหรือเทาในแม่น้ำโขงมากกว่าปกติ
พร จันทา นักวิจัยชุมชนบ้านเกาะเสนง กล่าวว่า ระดับน้ำแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงมาก โดยหน้าฝนช่วงน้ำหลากมีระดับน้ำที่ลดลงเฉลี่ยนประมาณ 1.7 เมตร ส่วนฤดูแล้งระดับน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 1.10 เมตร ส่งผลกระทบทางลบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงทำให้ปริมาณปลาลดลง ป่าชุมชนน้ำลดลง และการขึ้นลงของน้ำไม่ปกติ ตลิ่งพัง ทำให้รายได้ของประชาชนลดลง และชาวบ้านต้องมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น บางส่วนต้องอพยพไปทำงานข้างนอก คุณภาพน้ำโขงแย่ลง จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง
สำหรับข้อเสนอจากงานวิจัย ชาวบ้านได้ขอให้หน่วยงานท้องถิ่นประสานกับเขื่อนดอนสะโฮงในประเทศลาว เพื่อแจ้งเตือนเรื่องการระบายน้ำจากเขื่อน และเรียกร้องร้องให้องค์กรภาคประชาสังคมและบริษัทเอกชนที่พัฒนาเขื่อน สนับสนุนการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชุมชน และต้องคุ้มครองการประมงไม่ให้ผิดกฎหมาย พร้อมเรียกร้องรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฟื้นฟูป่าชุ่มน้ำและพื้นที่ริมตลิ่ง รวมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานท้องถิ่นติดตั้งเครื่องกรองน้ำให้กับชาวบ้าน และให้ผู้บริหารในตำบลจัดสรรงบประมาณในการฟื้นฟูป่าชุ่มน้ำและวิถีชีวิต ขณะที่บริษัทต้องรับผิดชอบต่อเกษตรริมน้ำของชาวบ้านและเครื่องมือประมงที่เสียหาย และต้องศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสาหร่ายมากขึ้น
พอย วันนา ประธานสมาคมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ บ้านกรอม กล่าวว่า เดิมปี 2008 มีปลาข่า หรือ ‘โลมาอิรวดี’ 8 ตัว แม้จะตายลงทุกปี แต่ก็มีปลาข่าเกิดใหม่ปีละสองสามตัว แต่สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ปลาข่าเริ่มตายลงไปเรื่อย ๆ ช่วงที่กำลังก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงที่อยู่ห่างออกไปเพียง 1-2 กิโลเมตร มีการระเบิดหิน ส่งผลกระทบให้ปลาข่าอพยพไปอยู่ในบริเวณแม่น้ำโขงที่แคบกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีหลายสาเหตุ เช่น สร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงมากมาย การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ พื้นที่ป่าชุ่มน้ำลดลงไปเป็นอย่างมาก ในปี 2015-2017
ไพรินทร์ เสาะสาย ผู้ประสานงานการรณรงค์ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า รูปแบบการไหลหลากของแม่น้ำโขงได้เปลี่ยนแปลง ค่าเฉลี่ยระดับน้ำของแม่น้ำโขงในช่วงฤดูน้ำหลากนั้นลดลงและระดับน้ำโขงในช่วงฤดูแล้งกลับเพิ่มขึ้นเนื่องจากการพัฒนาต่างในลุ่มน้ำ โดยเฉพาะปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่ทะเลสาบเขมรนั้นมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ปริมาณฝนตกที่น้อยลง และมีการกักเก็บน้ำไว้ทั่วทั้งลุ่มน้ำ
“แม้รายงานการศึกษาของทางการจะไม่ระบุสาเหตุที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำของแม่น้ำโขง แต่รายงานการวิจัยชุมชนของชุมชน คือความพยายามที่จะเก็บข้อมูลและเป็นหลักฐานการสำคัญที่ชี้ว่าระบบนิเวศแม่น้ำโขงและวิถีชีวิตชุมชนได้เกิดเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก และชุมชนได้เรียกร้องให้รัฐบาลลุ่มน้ำโขง ผู้พัฒนาโครงการและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่และทบทวนการเดินหน้าโครงการสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าแห่งใหม่ต่อไป” ไพรินทร์ กล่าว