ENVIRONMENT

‘วราวุธ’ พอใจ ผลสำรวจสัตว์ใต้ ‘ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม’

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ดำน้ำสำรวจทรัพยากรใต้ทะเล เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ว่า รู้สึกพอใจกับสภาพระบบนิเวศใหม่ที่มีแนวโน้มเป็นแหล่งระบบนิเวศปะการังที่สมบูรณ์และสวยงาม สามารถเป็นแหล่งอนุรักษ์และแหล่งท่องเที่ยวได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ได้ย้ำกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ให้ติดตามการเปลี่ยนแปลง รวมถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบด้านในระยะยาว พร้อมให้ถอดบทเรียนจากผลการปฏิบัติงานครั้งนี้ เพื่อขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่อื่น

นอกจากนี้ ยังมอบนโยบายให้มีการศึกษาเทคนิค เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนางานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ ผสานองค์ความรู้ทางวิชาการและความร่วมมือของประชาชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ เพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดผลเป็นที่ประจักษ์และยั่งยืน

สำหรับการพัฒนาแหล่งปะการังเทียมใต้ทะเลของประเทศไทย ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สามารถสร้างระบบนิเวศปะการังใหม่ได้ในหลายพื้นที่ ด้วยรูปแบบที่แตกต่างกันของวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ โดยจัดวางปะการังเทียมไปแล้วกว่า 150,000 แท่ง สร้างแหล่งปะการังแห่งใหม่ใต้ท้องทะเลกว่า 36,000 ไร่ รวมถึงการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมเพื่อจัดวางเป็นปะการังเทียม (Rig-to-Reef) ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ โดยได้จัดวางบริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแห่งแรก ใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมของบริษัทเชฟร่อน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จำนวน 7 ขาแท่น ที่หมดอายุสัมปทาน มาจัดวางเป็นปะการังเทียม

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวถึงพื้นที่ปะการังเทียมขาแท่นปิโตรเลียม บริเวณพื้นที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ว่า ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยหลังจากวางขาแท่นเป็นแหล่งปะการังเทียมแล้ว ทช.ได้ประกาศมาตรการคุ้มครองทรัพยากรในบริเวณดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2564 สิ้นสุดวันที่ 8 มีนาคม 2566 โดยห้ามทำประมงด้วยเครื่องมือประมงทุกชนิด ห้ามดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวดำน้ำ หรือการกระทำที่อาจมีผลกระทบต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตในบริเวณดังกล่าว เพื่อช่วยเร่งการเกาะตัวของปะการังอ่อนและสัตว์น้ำเข้ามาอาศัยเสมือนแหล่งอนุบาลสัตว์ใต้ทะเล พร้อมเตรียมแผนประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

จากการสำรวจหลังจัดวางปะการังเทียม พบการเข้าอยู่อาศัยของประชากรปลาหนาแน่นขึ้น มีความหลากหลายของชนิดปลามากขึ้น และยังพบการฟื้นตัวของสิ่งมีชีวิตเกาะติดที่ดี บริเวณของขาแท่นฯ ส่วนการสำรวจด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลบริเวณกองปะการังเทียม พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ

Related Posts

Send this to a friend