ENVIRONMENT

เปิดภารกิจ “สำรวจ-ซ่อมโพรงรัง” หวังเพิ่มโอกาสการขยายพันธุ์นกเงือกดำ

เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยฯ ป่าพรุสิรินธร ร่วมกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ-ป่าฮาลา บาลา เข้าซ่อมแซมและปรับปรุงโพรงรังนกเงือก ซึ่งเป็นโพรงธรรมชาติ “ต้นสะเตียว” จากโคนต้นถึงโพรงรัง ความสูงประมาณ 15 เมตร

ช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่เข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ของนกเงือก นกเงือกจะเริ่มจับคู่และเสาะหาโพรงรังที่เหมาะสม เพื่อให้ตัวเมียวางไข่และฟักไข่
เมื่อหาโพรงรังที่เหมาะสมได้แล้ว นกเงือกตัวเมียจะปิดปากโพรงให้แคบลง ใช้มูล เศษไม้ และเศษดิน ค่อยๆ ปิดจนเหลือเพียงช่องแคบๆ เพื่อให้ตัวผู้ส่งอาหารให้เท่านั้น

ตลอดเวลาที่นกเงือกตัวเมียทำรัง นกเงือกตัวผู้จะมีหน้าที่หาอาหารมาป้อนให้ตัวเมีย เมื่อถึงช่วงลูกนกฟักออกจากไข่ นกเงือกตัวผู้จะยังคอยหาอาหารมาให้ทั้งนกเงือกตัวเมียและลูกนกเงือก โดยช่วงเวลาการอยู่ในโพรงของแม่นกและลูกนกแต่ละชนิดไม่เท่ากัน เฉลี่ยประมาณ 4 – 6 เดือน เมื่อลูกนกออกจากรัง พ่อและแม่นกจะคอยเลี้ยงลูกนกต่อไปอีกระยะหนึ่ง

โพรงรังที่มีสภาพเหมาะสม เป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายพันธุ์ของนกเงือกตามธรรมชาติ แต่ปัจจุบันโพรงรังของนกเงือกเริ่มขาดแคลน ขณะที่ “นกเงือก” ไม่สามารถเจาะโพรงสร้างรังเองได้เหมือนนกทั่วไป ต้องมองหาโพรงรังที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น โพรงไม้ที่เกิดจากการเจาะของนกหัวขวาน รอยแผลบนต้นไม้ที่เกิดจากหมีล้วงเอาน้ำผึ้ง หรือรอยจากการที่กิ่งไม้หักจนทำให้เกิดแผล และมีขนาดกว้างพอที่นกเงือกจะเข้าไปอยู่อาศัยได้

สำหรับโพรงที่จะใช้ทำรังได้ ต้องมีสภาพที่เหมาะสม ไม่ใหญ่และไม่เล็กจนเกินไป ถ้ามีขนาดใหญ่จนเกินไปจะปิดโพรงยาก หรือปิดไม่ได้ แต่ถ้าแคบเกินไป นกเงือกก็อยู่อาศัยไม่ได้

ที่สำคัญคือ ระดับพื้นในโพรงต้องสูงพอดีที่นกเงือกนั่งแล้วสามารถยื่นปากออกมาจากโพรงเพื่อรับลูกไม้จากตัวผู้ได้ ทำให้การหาโพรงของนกเงือกกลายเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน โครงการซ่อมแซมและปรับปรุงโพรงรัง จึงเป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มจำนวนของนกเงือกดำในพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง เป็นการช่วยอนุรักษ์นกเงือก สัตว์ป่าผู้มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ ในฐานะ “ผู้ปลูกป่า”

Related Posts

Send this to a friend