นักวิชาการ หวั่นสารหนูแพร่กระจาย เหตุเดินหน้าขุดลอกดินตะกอนแม่น้ำกก-สาย-รวก

นักวิชาการ หวั่นสารหนูแพร่กระจาย เหตุเดินหน้าขุดลอกดินตะกอนแม่น้ำกก-แม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก โดยไม่มีการตรวจสอบสารโลหะหนัก
วันนี้ (14 มิ.ย. 68) ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงปัญหาการปนเปื้อนสารโลหะหนักเนื่องจากการทำเหมืองแร่ที่ต้นน้ำในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา เนื่องจากขณะนี้มีโครงการขุดลอกแม่น้ำกก แม่น้ำสายและแม่น้ำรวกว่า สิ่งที่กังวลมาตลอดก็เกิดขึ้นแล้วโดยได้มีการขุดลอกแม่น้ำโดยไม่รู้ว่าตะกอนท้องน้ำปนเปื้อนสารหนู และโลหะหนักอื่น ๆ ลึกลงไปขนาดไหนและไกลแค่ไหน โดยตอนนี้หน่วยราชการได้ขุดตะกอนปนเปื้อนขึ้นนมากองบนฝั่ง
“ฝุ่นมีโลหะหนักปลิวฟุ้ง กองดินที่มีตะกอนปนเปื้อนเมื่อถูกฝนชะก็ไหลไปไหนต่อไหน และลงเรือกสวนไร่นา ก่อนนี้ก็ทราบว่าตรวจเจอโลหะหนักในน้ำบ่อตื้นบางจุดไปแล้ว แน่นอนค่ะ ไม่ตายทันที ไม่มีใครตายตอนนี้ ทำอะไรไม่ทันแล้ว ขุดกันขึ้นมาแล้ว แต่ไม่เข้าใจ ว่าทำไมหน่วยราชการ คนมีความรู้มากมาย ทำไมไม่มีคนที่กล้าเตือนกัน ไม่มีใครห้ามใคร ไม่ educate ผู้มีอำนาจที่สั่งเรื่องนี้”
นับตั้งแต่มีปัญหาน้ำท่วมที่แม่น้ำกกและน้ำสาย โดยแม่น้ำปนเปื้อน ได้มีการตั้งคณะทำงาน คณะกรรมการ กันมาแล้วกี่คณะ
“ตั้งกันมาอย่างไร้ประโยชน์เยอะแยะทำไม นอกจากจะไม่เดินหน้าแก้ปัญหาเร่งด่วนอย่างที่ควรทำ ยังขยันสร้างปัญหาใหม่บั่นทอนชีวิตคนท้องถิ่น คนเชียงราย คนริมน้ำ ให้ตายผ่อนส่งกันได้แบบนี้อีก ใจดำ!” ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าว
ผศ.ดร.เสถียร ฉันทะ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่าเรื่องการขุดลอกแม่น้ำกกและแม่น้ำสายนั้น หน่วยงานที่ปฎิบัติงานดำเนินการไปตามงบประมาณประจำปีที่ได้รับมาและต้องปฎิบัติตามระเบียบราชการ ส่วนเรื่องความปลอดภัยนั้น ตอนนี้ความรู้และความตระหนักเรื่องพิษของสารโลหะหนักที่ปนเปื้อนในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำรวกและแม่น้ำโขง ยังไม่มีการใส่ใจเท่าที่ควร และยังไม่มีการแจ้งเตือนว่าตะกอนดินที่ขุดลอกขึ้นมานั้น มีสารโลหะหนักปนเปื้อนเกินค่ามาตรนฐานหรือไม่ เพราะยังไม่มีหน่วยงานไหนตรวจ แต่เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เพราะปกติตะกอนดินจะมีสารโลหะหนักเข้มข้นกว่าน้ำ
เมื่อหน่วยงานที่ขุดลอกไม่มีความรู้หรือข้อมูล ทำให้ผู้ที่ดำเนินการไม่ได้มีการป้องกันตัวและถ้าตะกอนที่เอาขึ้นมาอาจปนเปื้อนสารโลหะหนักเกินค่ามาตรฐาน หากเอาไปกองทิ้งไว้ในพื้นที่ต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะจะกลายเป็นฝุ่นฟุ้งแพร่กระจายสารพิษและเป็นอันตรายต่อประชาชน ดังนั้นแม้มีการขุดลอกแม่น้ำเหล่านี้ ควรมีการตรวจสอบให้ดี เพราะหากตรวจพบว่าดินตะกอนเหล่านี้เป็นของเสียอันตรายก็ต้องมีวิธีการกำจัดที่ถูกต้อง
“เท่าที่จำได้ ยังไม่เคยเห็นว่าเอาตะกอนดินที่ขุดขึ้นลอกขึ้นมานำไปตรวจ จริง ๆ แล้วแม่น้ำสายมีความน่ากลัวกว่าแม่น้ำกกด้วยซ้ำ เพราะเป็นแม่น้ำที่เล็กกว่า และมีการตรวจพบสารโลหะหนักหลายตัว ทั้งสารหนูและตะกั่ว ผมคิดว่าหน่วยงานรัฐ ควรเอาตะกอนเหล่านี้ไปตรวจสอบ เพราะหน่วยงานทหารพัฒนาเขาก็ไม่รู้ เขามีหน้าที่ขุด ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของทางการที่ไม่ตระหนักเรื่องนี้ ต้องรำลึกอยู่เสมอว่าไม่ได้ขุดลอกในสถานการณ์ปกติ แต่ขุดลอกแม่น้ำที่ปนเปื้อนสารโลหะหนักเกินค่ามาตรฐาน บางทีหน่วยงานราชการที่ควบคุมดูแลเรื่องนี้อาจคิดไม่ถึง ถ้ากองดินเหล่านี้มีสารพิษปนเปื้อน เมื่อนำไปปลูกพืช เช่น ปลูกกล้วย ก็มีโอกาสที่ผลกล้วยจะปนเปื้อน” ผศ.ดร.เสถียร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าที่ในหลายเวทีการประชุมได้มีการซักถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการขุดลอกดินแม่น้ำสายขึ้นมา ว่าจะนำไปไว้ที่ไหน อย่างไร เพราะประชาชนเป็นกังวลว่าดินที่ขุดมาจะปนเปื้อน แต่คำตอบมักถูกเลี่ยงโดยผู้บริหารหน่วยงานราชการบอกว่าต้องการขุดลอกเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยก่อนเป็นการเร่งด่วน ทำให้ประเด็นเรื่องตะกอนดินมีสารโลหะหนักหรือไม่ ยังไม่เคยได้รับคำตอบจากหน่วยงานราชการ