ENVIRONMENT

‘ครูตี๋’ เผยปริมาณน้ำโขงผันผวนหนักผิดธรรม ชาติ-เหตุเขื่อนจีนเร่งระบายน้ำรับหน้าฝน

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2564 นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และผู้ร่วมก่อตั้งสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง เปิดเผยถึงกรณีที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (Lancang-Mekong Corporation-LMC) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่เมืองฉงชิ่ง ซึ่งได้มีประเด็นแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ LMC ที่เน้นการพัฒนาต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ ภาคเกษตร การลงทุน ว่าเป็นเรื่องที่พยายามผลักดันโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นการเชื่อมของภาครัฐและทุน แต่กลับไม่เห็นภาพของภาคประชาชนที่ชัดเจน แถลงการณ์ไม่ได้พูดถึงปัญหาในลุ่มน้ำโขงที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะปัญหาแม่น้ำโขง ผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ในแถลงการณ์มีการพูดถึง แต่ไม่ได้เกี่ยวกับแก่นและการแก้ไขปัญหาที่ได้ผลและยั่งยืน

นายนิวัฒน์กล่าวว่า ในแถลงการณ์ได้ขอบคุณจีน ที่ให้ข้อมูลอุทกวิทยาแม่น้ำล้านช้างตลอดทั้งปี แต่ตนเองมองว่าที่ผ่านมาการให้ข้อมูลอุทกวิทยาแม่น้ำโขงนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาแต่เป็นเพียงการแจ้งให้ทราบ ว่าเขื่อนจีนจะระบายน้ำเพิ่มหรือลด กี่วัน ระบายน้ำกี่ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่กลับข้อมูลเช่นนี้กลับไม่มีการนำไปสู่แก้ปัญหาอย่างแท้จริงดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งรัฐมนตรีประเทศลุ่มน้ำโขงต้องร่วมกันแก้ปัญหา

“การขอร้องจีนเรื่องการปล่อยน้ำ ผมมองว่าไม่ใช่การร่วมมืออย่างเท่าเทียม เป็นเพียงการร้องขอเท่านั้น และไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ LMC ต้องตระหนักและชัดเจนเรื่องการพัฒนาลุ่มน้ำโขง คือเรื่องการแก้ปัญหาที่มีอยู่ ไม่ใช่แค่พยายาม เพราะทุกวันนี้หากพิจารณาแล้วแนวทางการแก้ไขปัญหานั้นมีอยู่ แต่ทางที่จะไปถึงนั้นไม่ได้เปิด เพราะขาดความตระหนักถึงปัญหาที่แท้จริง ประชาชนลุ่มน้ำโขงที่พึ่งพาทรัพยากรแม่น้ำโขงต้องการให้ความร่วมมือที่มากกว่าเพียงให้ข้อมูล มากกว่าบอกว่าเขื่อนจีนจะระบายน้ำเท่าไหร่ แต่ต้องร่วมกันแก้ปัญหา นั่น คือการบริหารจัดการเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในจีน ให้สอดคล้องกับฤดูกาล ให้ระดับน้ำโขงเป็นไปตามความต้องการของระบบนิเวศ การอพยพของปลา และผู้ใช้ทรัพยากรแม่น้ำโขงที่อยู่ท้ายน้ำ 5 ประเทศ” นายนิวัฒน์กล่าว

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และผู้ร่วมก่อตั้งสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง

ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวถึงสถานการณ์ของแม่น้ำโขงว่า ระหว่างวันที่ 15-16 พฤษภาคม ได้รับการแจ้งระบายน้ำจากเขื่อนจีน ทั้งเขื่อนเสี่ยวหวานและนั่วจาตู้ ซึ่งพบว่าน้ำขึ้นสูงสุด 3.12 เมตร ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เข้าใจว่าเป็นการพร่องน้ำจากเขื่อนในช่วงต้นฤดูฝน ทำให้น้ำท้ายน้ำเพิ่มระดับทันที ซึ่งตามวงจรธรรมชาติ หากน้ำขึ้นแบบนี้ เป็นสัญญาณธรรมชาติ บอกปลา ให้เริ่มอพยพขึ้นมาตอนบนเพื่อวางไข่ แต่เราพบว่าการระบายน้ำเพียงครั้งเดียว เพื่อให้อ่างเก็บน้ำว่าง สามารถกักเก็บน้ำเพิ่มในช่วงกลางฤดูฝนที่จะมาถึง ดังนั้นคาดการณ์ว่าในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ก็อาจจะไม่เกิดน้ำท่วมหลากอย่างที่เคยเป็นมา เพราะเขื่อนตอนบนกักน้ำไว้ ส่งผลให้แม่น้ำโขงตอนล่างและลำน้ำสาขาต่างๆ ก็จะไม่ได้รับน้ำหลากตามธรรมชาติ

“การแก้ไขปัญหาในเวลานี้ เร่งด่วนทันที คือ บริหารจัดการเขื่อนให้แม่น้ำโขงไหลตามฤดูกาล รักษาความมั่งคั่งของแม่น้ำโขง รักษา Mighty Mekong ไว้ ซึ่งภาคประชาชนพยายามติดตาม พบว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือระหว่างวันที่ 1-9 มิย. ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดระดับเท่ากับฤดูแล้ง คือเท่ากับเดือนเมษายน ลดต่ำสุด 8 มิย 2.19 เมตร เท่ากับวันที่ 9 เมษายน คือ 2.19 เมตร เป็นสัญญาณที่บอกว่าน้ำโขงในฤดูฝนลดลง ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ซึ่งเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องสาธารณะ เป็นเรื่องของประชาชนลุ่มน้ำโขงที่ร่วมกันกดดันผู้มีอำนาจตัดสินใจ เพราะเป็นปัญหาซ้ำๆ ที่ควรได้รับการแก้ไข การประชุมผู้นำ LMC นั้นหากมีข้อมูลก็ควรนำเสนอเพื่อใช้ในกระบวนการตัดสินใจร่วมกัน หนึ่งในการแก้ไขปัญหา คือสามารถใช้เขื่อนจิงหง เป็นเขื่อนปรับระดับน้ำ แต่ผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขง LMC จะคิดเรื่องนี้หรือไม่ ต้องสละการผลิตไฟฟ้าของเขื่อน แต่ใช้เพื่อปรับระดับน้ำ และเขื่อนตอนบนก็ต้องปรับการใช้งานให้เป็นไปตามฤดูกาลมากที่สุด เพื่อการแก้ไขปัญหานี้”

อนึ่งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ภายหลังการประชุม รัฐมนตรีลุ่มน้ำโขง ที่เมืองฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วม Joint Statement on Enhancing Sustainable Development Cooperation of the Lancang-Mekong Countries โดยมีเนื้อหา 10 ข้อ อาทิความร่วมมือในการพัฒนาประเทศในลุ่มน้ำโขง ตระหนักถึงความสำคัญในธรรมาภิบาลทรัพยากรน้ำ แผนปฎิบัติการ 5 ปีความร่วมมือทรัพยากรน้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง (2018-2022) (Five-Year Action Plan on Lancang-Mekong Water Resources Cooperation) ซึ่งแต่ละประเทศกำลังเผชิญความท้าทายทั้งการเพิ่มขึ้นของความต้องการน้ำ การขยายตัวของภาคเมืองและประชากร โดยเห็นชอบที่ต้องเพิ่มความสามารถในระดับชาติและสถาบันภูมิภาคในธรรมาภิบาลน้ำ และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ

ในแถลงการณ์ระบุถึงข้อตกลงความร่วมมือภายใต้คณะทำงาน ความร่วมมือทรัพยากรน้ำแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง เกี่ยวกับข้อมูลอุทกวิทยาแม่น้ำล้านช้างตลอดทั้งปีโดยจีนและ 5 ประเทศลุ่มน้ำโขง (MOU under the Joint Working Group on Lancang-Mekong Water Resources Cooperation on the Provision of Hydrological Information of the Lancang River through the Year by China to other Five Member Countries) ซึ่งได้ลงนามร่วมกัน และรัฐมนตรีลุ่มน้ำโขงได้แสดงความซาบซึ่งต่อจีนที่ได้แบ่งปันข้อมูลตลอดทั้งปี และเพิ่มการระบายน้ำตามที่ประเทศท้ายน้ำร้องขอโดยตระหนักว่าน้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าต่อประชาชน นอกจากนี้ยังตระหนักถึงมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมโดยมียุทธศาสตร์ความร่วมมือแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง

Related Posts

Send this to a friend