คพ.ติวอาสาสมัครเฝ้าระวังลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย ในพื้นที่เสี่ยง 12 จังหวัด
คพ. รุกสร้างเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังติดตามปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายในพื้นที่เสี่ยง 12 จังหวัด
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากสถิติการลักลอบทิ้งกากของเสียที่เป็นอันตราย ซึ่งรวบรวมไว้ในรอบ 10 ปี (2555 – 2564) พบจำนวนมากถึง 79 ครั้ง สูงสุดอยู่ที่ภาคตะวันออก 45 ครั้ง ภาคกลาง 21 ครั้ง ภาคตะวันตก 8 ครั้ง เนื่องจากเป็นแหล่งอุตสาหกรรม ทำให้สารเคมีอันตรายแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม อาทิ ปัญหากลิ่น การปนเปื้อนของดิน แหล่งน้ำผิวดิน ระบบน้ำใต้ดิน ระบบนิเวศส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยและการประกอบอาชีพของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบหาผู้กระทำผิดยาวนานและมีค่าใช้จ่ายในการจัดการบำบัดและฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนเป็นจำนวนมาก
นายอรรถพล กล่าวว่า คพ. ได้เตรียมความพร้อมให้กับเครือข่าย มีการจัดทำทำเนียบเครือข่าย ช่องทางการติดต่อ คู่มือการทำงาน และจะอบรมเพิ่มและทบทวนสร้างองค์ความรู้ให้กับเครือข่ายเป็นระยะโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปราจีนบุรี สระบุรี สระแก้ว นครราชสีมา ลพบุรี เพชรบุรี และราชบุรี
นายอรรถพล ได้ให้แนวทางการทำงานและเน้นประเด็นสำคัญ กรณีเกิดเหตุการณ์สถานการณ์มลพิษต้องหยุดยั้งมลพิษให้รวดเร็ว สืบสวนหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบต้องได้รับการเยียวยา มีการเรียกร้องค่าเสียหาย จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลการขนส่งกากของเสียกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเป็นข้อมูลติดตามผู้กระทำความผิด และ คพ. อยู่ระหว่างการปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อให้มีอำนาจและกฎหมายรองรับ และได้เน้นย้ำขอให้เครือข่ายอาสาสมัครฯ ร่วมเป็นหูเป็นตาในการเฝ้าระวังการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย แต่ต้องดูแลความปลอดภัยของตนเองด้วยในขณะปฏิบัติงาน
“จากเสียงสะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะจากเครือข่ายภาคประชาชน ขอให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการตรวจสอบ เร่งสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด จัดการกับกากของเสียและฟื้นฟูให้รวดเร็วเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม มีบทลงโทษทางสังคมกับผู้กระทำความผิด มีระบบข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับของสารเคมีและกากของเสียจากโรงงาน ผลักดันการจัดตั้งกองทุนการจัดการกากของเสียอันตรายและฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน การออกกฎระเบียบกำหนดพื้นที่เฉพาะ (zoning) สำหรับโรงงานประเภท 101 105 และ 106 ให้มีการจัดการกากของเสียภายในจังหวัดและห้ามขนย้ายข้ามจังหวัด เร่งรัดออกกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อรองรับการจัดการกากของเสียอันตรายจากสถานประกอบการขนาดเล็กที่ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน ซึ่งทางกรมจะนำข้อเสนอไปขับเคลื่อนและปฏิบัติงานร่วมกับอาสาสมัครอย่างใกล้ชิด หากพบเห็นการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย โทรแจ้ง 1650” นายอรรถพล กล่าว