DEEPSOUTH

รู้จัก ศ.พล.อ.ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียคนใหม่

รู้จัก ศ.พล.อ. ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียคนใหม่ ในกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในการปาฐกถาพิเศษ 10 ปี กระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ ศาสตราจารย์ พลเอก ตันซรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกรัฐบาลมาเลเซีย ได้รับความสนใจจากภาคประชาสังคมและประชาชน เข้ารับฟังการปาฐกถาครั้งแรกของผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ 

ศ.พล.อ. ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดิน  เริ่มทักทายด้วยการขอบคุณสภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้จัดงานสมัชชาสันติภาพปาตานีครั้งที่ 4 และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่เชิญมาร่วมงานครั้งนี้ รู้สึกได้ถึงสัญลักษณ์เชิงบวกของการมีส่วนร่วมที่แท้จริง และเหตุผลของการมาร่วมงานนี้ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกรัฐบาลมาเลเซีย มีวัตถุประสงค์เพื่อกล่าวความเห็นโดยตรงด้วยตนเอง ดีกว่าให้คนอื่นตีความเอง (To Express, rather than to impress)

จากตำแหน่ง พล.อ.และประวัติรับราชการทหาร ทำให้ภาพลักษณ์ของ ตันศรี ซุลกิฟลี ถูกมองว่าเป็นทหารที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ได้หรือไม่ น่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไม ตันศรี ซุลกิฟลี เลือกจะแนะนำตัวเองอย่างเป็นทางการ ก่อนจะกล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการทำงานเพื่อสันติภาพโดยบอกว่าเพื่อละลายพฤติกรรมของผู้ร่วมฟัง จะได้ไม่รู้สึกอึดอัดใจ และเกิดความสนิทสนมกัน จะได้เปิดมิติใหม่ในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพขึ้นหลังจากนี้

ตันศรี ซุลกิฟลี กล่าวว่า ตนเองได้รับมอบความไว้วางใจอย่างเป็นทางการจากนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดาโต๊ะ ศรี อันวาร์ อิบราฮีม เพื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยความสะดวก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นการสืบทอดตำแหน่งต่อจากตันศรี อับดุลการีม โนร์

“ก่อนได้รับตำแหน่งนี้ ผมเป็นข้าราชการเกษียณอายุจากกองกำลังแห่งประเทศมาเลเซีย หลังจากรับราชการมา 42 ปี ตำแหน่งราชการสุดท้ายคือผู้บัญชาการทหารสูงสุด  กองกำลังมาเลเซีย คนที่ 20 ตั้งแต่ปี 2561 จนเกษียณอายุราชการในปี 2563 โดยก่อนหน้านั้นได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศแห่งมาเลเซีย เป็นเวลา 7 ปี ซึ่งเคยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เป็นอุทยานเรียนรู้ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย”

ศ. พล.อ. ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดิน ย้ำว่า แม้จะเป็นทหาร แต่จิตใจและความสนใจของตนเองใกล้ชิดกับโลกวิชาการ เคยได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์วุฒิคุณจากมหาวิทยาลัยเปอร์ลิส และนักวิชาการกิตติมศักดิ์ จากสถาบันดับเบิ้ลยูเอ็มจี มหาวิทยาลัยวอร์ริก ประเทศอังกฤษ และเป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศแห่งมาเลเซีย 

“จนถึงทุกวันนี้ ผมยังปฏิบัติหน้าที่นักวิชาการและสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัย สาขาวิชาที่มีความเชี่ยวชาญ คือ War and Conflict สงครามกับความขัดแย้ง การได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยความสะดวกครั้งนี้จึงเป็นเกียรติและยังเป็นโอกาสทองเพื่อนำทฤษฎีต่างๆ มาใช้ในสถานการณ์จริงของโลกแห่งความเป็นจริง และยังเป็นหัวหน้าหมวดความมั่นคงและการป้องกันประเทศ สถาบันศาสตราจารย์แห่งประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับนักคิดที่รวบรวมความเชี่ยวชาญของศาสตราจารย์หลายท่านมาเสนอความเห็นต่อนโยบายหลักเพื่อพัฒนาสังคมมาเลเซียด้วย”

ตันศรี ซุลกิฟลี กล่าวถึงกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่เริ่มเมื่อ 10 ปีก่อนในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น ได้ขอให้ประเทศมาเลเซียเป็นคนกลางในการแก้ไขความขัดแย้งในภาคใต้ของไทย และผลที่ตามมาคือการลงนามในฉันทามติทั่วไป (General Consensus) ระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 

จนมาถึงรัฐบาลนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮีม ของมาเลเซีย ยังสานต่อการทำหน้าที่นี้ และได้ย้ำกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยว่า มาเลเซียเป็นประเทศมิตรและครอบครัวที่ดี จึงพร้อมทำทุกอย่าง และพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกแก่ทุกฝ่ายอย่างเต็มที่เพื่อบรรลุข้อตกลงสันติภาพสำหรับภาคใต้ของไทย

“การมีส่วนร่วมของฝ่ายที่สาม ทั้งองค์กรนอกภาครัฐ ภาคประชาสังคม จะได้รับการขับเคลื่อนเพื่อให้มีความคืบหน้าทางบวก จากผู้อำนวยความสะดวก เพราะการเจรจาเป็นวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อส่งเสริมให้มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง”

ตันศรี ซุลกิฟลี เปิดเผยว่าในการประชุมครั้งล่าสุดที่กัวลาลัมเปอร์ รัฐไทยและ BRN บรรลุข้อตกลงและความเข้าใจร่วมกันเพื่อสร้างแผนปฏิบัติการสันติภาพแบบองค์รวม Joint Comprehensive Plan towards Peace, JCPP ซึ่งเป็นแผนกำหนดทิศทางสำหรับปี 2566-2567

JCPP เป็นแผนปฏิบัติที่กำหนดทิศทางหรือแผนที่นำทาง Road Map ที่แสดงให้เห็นว่ามีแสงสว่างแห่งความหวังเพื่อสันติภาพสำหรับประชาชนคนปาตานีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และยังมีโอกาสที่จะสามารถทำให้ความขัดแย้งนี้สิ้นสุดลงได้ด้วย

ตันศรี ซุลกิฟลี เปิดเผยว่า JCPP ประกอบด้วยแผนปฏิบัติสองระยะ ระยะแรก สำหรับการพูดคุยถึงรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นสารัตถะสองประเด็น ได้แก่การลดความรุนแรงและการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ ส่วนระยะที่สอง เป็นระยะปฏิบัติการในสนามหลังจากทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงในระยะแรก ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะพยายามทำไปสู่เป้าหมาย

“ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ผมขอแสดงความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนการปฏิปฏิบัติของรัฐบาลมาเลเซียและมั่นใจว่าวิธีการตามความเห็นชอบของทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหาควรจะเป็นวิธีปฏิบัติของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสีย”

ศ. พล.อ. ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดิน ย้ำว่า ประเด็นสำคัญที่ตนเองต้องการจะเน้นคือ การสร้างสันติภาพมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับมนุษยธรรม  ดังนั้นทุกฝ่ายควรพยายามเพื่อขยายการมีส่วนร่วมในสภาพแวดล้อมของทุกฝ่าย โดยยึดมั่นใน “big heart and big mind” จิตใจอันยิ่งใหญ่ เพื่อบรรลุสถานการณืที่ทุกฝ่ายจะสามารถเป็นผู้ชนะได้ Win-Win

“คำสำคัญคือสันติภาพ Keamanan และต้องเป็นประเด็นหลักของแต่ละฝ่ายถึงแม้ว่าภายหลังจะมีหลักการ agree to disagree เห็นด้วยที่จะไม่เห็นด้วย แต่คำสำคัญนี้ต้องมีการปฏิบัติและได้รับการเคารพ”

ศ. พล.อ. ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดิน กล่าวอีกว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเห็นด้วยและยอมรับว่าไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งประเทศไหนก็ตาม ไม่อาจจะสิ้นสุดด้วยการใช้ความรุนแรง

“สุภาษิตมลายูบอกว่า Menang jadi arang,kalah jadi abu ชนะก็เป็นถ่าน แพ้ก็เป็นเถ้า ไม่มีฝ่ายใดได้ประโยชน์จากการใช้ความรุนแรง ในทางกลับกันการใช้ความรุนแรงจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงและมีความเสี่ยงที่จะถล่มสังคมทั้งหมดในพื้นที่ความขัดแย้งด้วยซ้ำ”

ตันศรี ซุนกิฟลี ได้เชิญชวนทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันในการแลกเปลี่ยนบนโต๊ะเจรจาเพื่อยุติการปะทะกันแสวงหาจุดร่วม สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และให้เข้าถึงระดับรากหญ้า ปลพสุดท้ายก็จะนำไปสู่การสิ้นสุดของความขัดแย้ง

“Tak lalu dandang di air,di gurun ditanjakkan เราต้องพยายามทุกอย่าง ตราบใดที่สามารถบรรลุเป้าหมายของเราได้

Related Posts

Send this to a friend