DEEPSOUTH

ชีวิตมุมบวกของ “ธิดารัตน์ ยอดแก้ว” หลัง 1 เดือนที่สิ้นพ่อ-แม่ในโศกนาฏกรรมแห่งลำพะยา

1 เดือนหลังเหตุการณ์ที่กลุ่มคนร้ายบุกถล่มป้อมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านทุ่งสะเดา หรือบ้านย่อยทางลุ่ม ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา จนมีผู้เสียชีวิต 15 ศพ บาดเจ็บ 5 ราย “ธิดารัตน์ ยอดแก้ว” หรือ “เดียร์” ผู้สูญเสียพ่อกับแม่ไปในคราวเดียวกันในเหตุการณ์ดังกล่าวบอกว่า เธอไม่อยากให้มองแง่ร้าย และอยากเห็นภาพความสัมพันธ์ของคนพุทธและอิสลามที่ลำพะยาคงอยู่เช่นนั้นอีกนานๆ

ท้องฟ้าต้นเดือนธันวาคมถูกห่อคลุมด้วยเมฆฝนจนเป็นสีทึมเทาตลอดทั้งวัน และยังโปรยละอองฉ่ำชื้นลงมาเป็นระยะ ราวกับความโศกเศร้าอาดูรของคนลำพะยาที่สูญเสียคนในชุมชนยังคงไม่จางหายไปไหนแม้จะผ่านมาแล้วร่วมเดือน

ไม่ห่างจากวัดสิริปุณณาราม หรือ “วัดลำพะยา” อันเป็นสถานที่ฌาปนกิจศพชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.)และราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน (อรบ.)ที่เป็นสมาชิกในชุมชนมากนัก บ้านชั้นเดียวหลังเล็กตั้งอยู่ในสวนยางพาราครึ้มขจี

“ธิดารัตน์ ยอดแก้ว” หรือ “เดียร์” ผู้เป็นบุตรสาววัย 29 ปีของ “สุนทร ยอดแก้ว” ผู้เป็นพ่อ อดีตผู้ช่วยกำนันและ ชรบ. กับแม่ “รัชนก ยอดแก้ว” ที่เป็น อรบ.ซึ่งเสียชีวิตพร้อมกันจากคมกระสุนของคนร้าย เธอปัดกวาดตั่งกว้างที่ก่อฐานด้วยปูนและปูพื้นด้วยกระเบื้องเพื่อเชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนนั่งตรงนั้น

“ปกติจะเป็นที่ที่พ่อไว้ใช้รับแขกนั่งสังสรรค์กินกาแฟกับเพื่อนๆ ค่ะ” เธอบอก

เดียร์ เป็นคนยิ้มง่าย และมีรอยยิ้มอยู่แทบตลอดเวลา แต่ดวงตานั้นต่างหากที่บอกเราว่าเธอยังขังความเศร้าไว้ภายในเต็มเปี่ยม และเป็นดั่งทำนบกั้นมวลน้ำตามหาศาลเอาไว้

“จิตใจดีขึ้นค่ะ อาจจะเป็นเพราะว่าเดียร์มีลูกคอยให้เสียงในบ้าน ไม่ได้เงียบเหงา จากที่อยู่กันหลายๆ คน มันก็มีเสียงเด็กๆ คอยให้กำลังใจ” เธอบอกสถานะตอนนี้ และบอกว่าเหตุการณ์ร้ายๆ เมื่อเดือนก่อนได้เปลี่ยนความคิดความรู้สึกของเธอตลอดกาล

“จากที่ไม่เคยคิดว่า อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด กลายเป็นตอนนี้เราไม่มีความแน่นอนอะไรในชีวิตเลย เคยคิดพ่อกับแม่จะอยู่กับเราอีกนาน แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่ มันสอนเราว่า อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิดขึ้นได้ มันไม่ใช่สิ่งที่เราหวังในทุกๆ เรื่อง ซึ่งบางที้เราตั้งความหวังอะไรไว้เยอะ แต่พอมันพังขึ้นมาเค้าเรียกว่าผิดหวัง แต่ถามว่าเราอยู่ได้ไหม ก็ต้องอยู่ให้ได้”

“คือจากเมื่อก่อนเราแค่คนอาศัยในบ้าน เดี๋ยวนี้ต้องมาเป็นเจ้าบ้านเอง ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวเอง ต้องมาดูแลทุกอย่างในบ้านเองทั้งหมด มันเลยทำให้เรารู้สึกว่า พ่อแม่คงไม่อยากเห็นเราต้องอ่อนแอ ท่านคงอยากให้เราเข้มแข็งได้เร็วๆ เดียร์ก็เลยมองทุกอย่างให้มันดี มองในแง่ดี เดียร์เชื่อว่าทุกอย่างมันอยู่ที่เราคิด ถ้าเกิดเราคิดให้มันเศร้า เราก็เศร้าได้ทุกวันแหละ เจอเหตุการณ์อย่างนี้เราก็เศร้าได้ทุกวัน อย่างเดินออกมาเจอรถแม่อย่างนี้เราก็รู้สึกแล้ว เราอาจจะคิดให้มันเศร้า แต่ถ้าเกิดเรามองให้มันเป็นแง่ดีว่า เออ… ท่านไปสบายแล้ว ดีกว่าท่านจะมาเจ็บป่วยอย่างนี้ค่ะ”

เธอบอกว่า แม้เหตุการณ์ความไม่สงบจะเกิดในพื้นที่อื่นๆ ทั่วไปในชายแดนใต้ตลอดระยะเวลา 15 ปี แต่เธอไม่เคยคิดว่าจะเกิดกับครอบครัวของเธอเลยแม้แต่น้อย

“เคยเห็นข่าวคนนั้นคนนี้เกิดเหตุการณ์ แต่ไม่คิดว่าเกิดกับครอบครัวเรา เราก็ตามข่าวมาตลอดว่าที่ไหนๆ เกิดเหตุการณ์ แค่ไม่คิดว่ามันจะเกิดกับครอบครัวเราเท่านั้นเอง แล้วก็ไม่คิดว่าจะเกิดทั้งคู่”

ผู้เป็นพ่อต่างหากที่เคยพูดกับเธอ เตือนเธอให้ระมัดระวังตัว เพราะเธอเรียนหนังสืออยู่ในเมืองยะลา และกลับมาอยู่บ้านแล้วก็ยังเทียวไปเทียวมาหลายสิบกิโลเมตร ในขณะที่พ่อกับแม่ไม่ค่อยออกนอกชุมชนลำพะยา เธอจึงไม่เคยเอ่ยปากเตือนพ่อกับแม่ และท้ายที่สุดเมื่อเกิดเหตุการณ์ เธอจึงเข้าถึงสัจธรรม ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

แต่ความสูญเสียครั้งนี้ ไม่เคยก่อความเกลียดชังขึ้นในใจของเธอแม้แต่น้อย

“หนูเรียนหนังสือในเมือง หนูเรียนอิเล็คทรอนิคส์ เพื่อนก็มีแต่อิสลาม เราเติบโตมาในสังคมแบบนี้” เธอบอก และชี้ให้เห็นตั่งปูนกว้างขวางที่เรานั่งอยู่ ไม่ใช่แบบฉบับของบ้านเรือนทั่วๆ ไป หากแต่เธอบอกว่าเพราะพ่อสร้างไว้รับแขก เพื่อนของพ่อที่มีทั้งพุทธและมุสลิม

“เราอยู่กันทั้งพุทธทั้งอิสลามนั่นแหละ ในลำพะยา เพื่อนพ่อที่มาที่บ้านอิสลามเยอะแยะค่ะ อิสลามเยอะ ไทยพุทธก็เยอะ ที่มาอยู่ด้วยกันที่นี่นะคะ เหมือนเมื่อก่อนนี้ กาแฟวางไว้เลย ที่นี่บริการกาแฟฟรี จะบอกว่าบริการกาแฟฟรี คือเพื่อนพ่อเยอะ ตอนเช้าจะมาอยู่กันตรงนี้เต็มเลย ทั้งอิสลามทั้งพุทธ กาแฟห่อนึงไม่ถึงอาทิตย์หมด แต่ตอนนี้ไม่มีใครมา คือมีคนมาเยี่ยม แต่ไม่มีใครมาสังสรรค์นั่งกินกาแฟเหมือนก่อน”

“เหมือนร้านน้ำชาของมุสลิม ไทยพุทธก็จะไปนั่งคุยกัน ตลาดนัดลำพะยาจะมีหลายวันหน่อย ทั้งคนพุทธทั้งคนมุสลิมก็จะไปขายไปซื้อของกันเป็นเรื่องปกติ”

เธอบอกว่า เหตุผลที่ต้องมองปัญหาด้วยสติ เพราะเธอไม่อยากให้เหตุการณ์บานปลายไปทำลายสิ่งที่เธอรัก คือบ้านเกิดของเธอเอง

“คือเดียร์มองกว้างมากกว่ามองแคบ ไม่ได้หมายความว่าเกิดเหตุการณ์แล้วอยากโทษใคร แต่คิดว่าเรื่องเกิดแล้ว แล้วเราจะอยู่ยังไงเท่านั้นเอง แล้วจะอยู่กับคนเดิมๆ อยู่กับเพื่อนพ่อที่เคยอยู่นี่แหละ แต่แค่วันนี้ไม่มีเขาเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้ทำให้เรามองหน้าเพื่อนเขาไม่ติด เดียร์เชื่อว่าทุกอย่างมันอยู่ที่เราคิด”

“คือถามเรา เราต้องใช้ชีวิตที่นี่อีกนานๆ ต่อไป รุ่นลูกรุ่นหลานเราก็ต้องอยู่ที่นี่ เพราะคือบ้าน แล้วจะให้เราทิ้งบ้านไปอยู่ที่อื่น เดียร์ไม่โอเคเลย เดียร์คิดว่าไม่มีที่ไหนอยู่แล้วมีความสุขเท่าอยู่บ้านเรา ต่อให้ไปเช่าบ้านสวยหรูเดียร์ก็เชื่อว่าอยู่บ้านเราโอเคที่สุด แล้วก็ลำพะยาเป็นชุมชนที่น่าอยู่มาก คืออุดมสมบูรณ์ในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นน้ำ พืชผัก ผลไม้ ก็จะมีของคนในลำพะยาเองน้อยที่จะไปเอาของข้างนอกมา ถึงบอกว่า เหมือนผักในตลาดอย่างนี้ก็มีเจ้านี้ของอิสลาม เจ้านี้ไทยพุทธ อยู่ร่วมกัน นั่งขายใกล้ๆ เดียร์ยังอยากเห็นภาพอย่างนี้ไปอีกนานๆ”

ไม่ใช่เพิ่งได้ตอนนี้ แต่เธอตั้งสติและคิดประมวลปัญหาตั้งแต่หลังเหตุการณ์แล้ว เธอบอกว่าเธอเศร้าเสียใจที่สุดในวันที่เกิดเหตุ

“เดียร์คิดบวกตั้งแต่วันที่เกิดเหตุการณ์ ทุกอย่าง วันที่เดียร์เสียใจที่สุดคือ คืนที่เกิดเหตุ โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น ใครทำอะไร แต่แค่ได้ยินเสียงระเบิดและเสียงปืนจากที่นั่น ได้ยินชัดชัดมาก เพราะจากตรงนี้(ที่บ้าน)ถึงตรงนั้นแค่กิโลเมตรกว่าๆ เอง”

ทุกวันอังคารเธอต้องไปทำกับข้าวให้ ชรบ.และ อรบ.ที่อยู่เวรในป้อมดังกล่าว วันนั้นเธอไปราวบ่ายสามโมงครึ่งและกลับมาตอน ห้าโมงเย็นกว่าๆ และเมื่อเหตุการณ์คนร้ายบุกถล่มป้อมเกิดตอนราวห้าทุ่ม เธอบอกว่าได้ยินเสียงระเบิดและเสียงปืนชัดเจนมาก เพราะที่นี่มีป้อมอยู่เวร ชรบ.แค่ 3 จุด ตอนที่เสียงระเบิดครั้งแรกเธอยังจับจุดไม่ถูกว่าที่ไหน จึงวิ่งออกมาฟังนอกบ้าน หลังจากนั้นเสียงปืนที่ดังถี่และยาวนานเกือบยี่สิบนาทีขึ้นก็จับได้ว่าเกิดเหตุจากทิศทางไหน พอรู้ว่าเป็นจุดที่พ่อกับแม่อยู่นั่นจึงเป็นครั้งเดียวที่เธอร้องไห้

“ร้องหนักมาก เพราะรู้ว่าเกิดเหตุที่นั่น เพื่อนที่เป็นกู้ภัยโทรมา เพราะหลังเกิดเหตุไม่มีใครกล้าเข้าไป เพื่อนบอกว่า มีเหตุเกิดที่ลำพะยา นี่ก็บอกว่าเออ พ่อแม่ก็อยู่นั่น ให้เข้าไปช่วยหน่อย เพื่อนก็เลยเข้าไป พอเพื่อนเข้าไปได้ก็โทรมาบอก ว่ามีพ่อกับแม่ด้วยนะ ที่เสียชีวิต แล้วก็ร้องไห้วันนั้นวันเดียวเลย แล้วค่อยๆ มาลำดับความคิดว่า เราต้องทำยังไง เราต้องใช้ชีวิตยังไง ต้องอยู่ยังไง แต่ก็ถามมีเสียใจไหม แน่นอนอยู่แล้ว แน่นอนที่เราต้องเสียใจ แต่ถามว่าเราเสียใจยังไงให้เราอยู่ได้ ให้คนรอบตัวเราไม่เศร้าไปมากกว่านี้ แล้วก็เป็นห่วงเรามากกว่านี้ ซึ่งรู้แหละว่า อากับย่าต้องห่วงเราอยู่แล้ว เพราะเราอยู่กับพ่อกับแม่ตลอด”

เธอรู้ตัวเองตอนนั้นว่า เธอเข้มแข็งกว่าที่ตนเองคิดไว้มาก และเธอเชื่อว่า เพราะการเป็น “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว” และปัญหาในอดีตที่ผ่านมาทำให้เธอหาทางออกจากความเศร้าได้เร็วกว่าที่คิด

“การเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวมาก่อน อาจจะมีส่วนทำให้เรามองโลกอีกแบบ คือเรื่องบางเรื่องบางทีมันเชื่อมโยง มันพัวพันกันหมดแหละว่า มันทำให้มุมมองความคิดเราเปลี่ยน จากที่เราเคยมองอะไรแย่ๆ บางทีมันก็ทำร้ายตัวเราเอง มันทำร้ายความคิดเรา มันทำร้ายความรู้สึกเรา แต่แต่พอเรากลับมามองแง่ดีขึ้นมา บางทีเรื่องที่เราเศร้าๆ มันทำให้เราเข้มแข็งเร็วขึ้น มันทำให้เรามองอะไรแล้วเราเจ็บน้อยลง”

และมุมบวกที่เธอได้รับจากเหตุการณ์อีกอย่าง คือพลังแห่งชุมชน และน้ำใจจากคนไกล ที่เธอไม่เคยเห็นมาก่อน

“วันนั้นเป็นวันที่ลำพะยาเงียบมาก เค้าก็รู้สึกแย่ไปกับเราด้วย เพราะเป็นวันที่ลำพะยาเศร้าที่สุด ในความรู้สึกเดียร์คือทุกคนไม่อยากมีกะจิตกะใจทำอะไรเลย แต่ว่าในความเงียบนั้นทุกคนไปรวมตัวกันที่วัดหมดเลย ช่วยกันจัดงาน ช่วยกันกางเต็นท์ ช่วยกันทำทุกอย่าง เดียร์ถึงบอกว่า ในเรื่องแย่ๆ นั้นมันมีเรื่องดีๆ ขึ้นมา คือเราได้เห็นความสามัคคีของคนในบ้าน ที่ผ่านมาต่างคนต่างอยู่กันมากกว่า คือรู้จักกัน เจอกันก็ทัก แต่ไม่ได้แสดงออกแบบนี้ในชุมชนเรา พอมันเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็ช่วยเหลือกันหมดเลย โดยที่ไมได้มองว่าเธอไม่ใช่ญาติฉัน ฉันไม่ใช่ญาติเธอ แต่ทุกคนมาช่วยกันหมดเลย ไม่มีใครบ่นเลยว่าเหนื่อยมาก มาช่วยด้วยใจกันจริงๆ มันไม่เหมือนงานทอดกฐินที่ช่วยกันวันเดียวแล้วจบ แต่ศพทั้ง 9 ศพไว้หลายวัน ทุกคนเป็นเจ้าภาพ ก็ช่วยกันหมดเลย เดียร์เดินขอบคุณทั้งงานยังไม่พอ ทั้งแม่ครัว คนขูดมะพร้าว คนยกเต็นท์ ขนเต็นท์ ขนโต๊ะ คนช่วยเยอะมาก แล้วคนจากข้างนอกก็เยอะ”

“ในเฟซบุ๊กก็เช่นกัน บางคนเดียร์ไม่ได้รู้จักเลยแต่แค่นามสกุลเหมือนกันเค้าก็เข้ามาช่วยเหลือ บางคนมาเองเลยโดยที่เราไม่ได้รู้จักเขา แค่นามสกุลเหมือนกันบางทีมาจากสงขลา ยอมขับรถมาจากตรัง มาจากพัทลุงเพื่อมางานนี้ ทำให้เรามองเห็นอะไรหลายๆ อย่างมากขึ้น”

การสูญเสียพ่อกับแม่พร้อมกัน หากประสบกับใครหลายคนเชื่อว่ายากจะทำใจได้ แต่กับเดียร์ เธอกลับมองเห็นด้านดีบางอย่างที่เธอไว้ปลอบประโลมตัวเอง

“คือบางทีเดียร์ก็คิดว่า ถ้าวันนั้นท่านไม่ได้เสียไปด้วยกัน คนหนึ่งต้องมาเจ็บ อีกคนต้องเสีย ในความรู้สึกของคนรัก มองในมุมเดียร์นะ ว่าถ้าเกิดเรารักใครสักคนมากๆ ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันตลอด คนนึงเสียอีกคนจะอยู่ยังไง เดียร์คิดในแง่ดีนะว่า ท่านเสียพร้อมกันน่ะดีแล้ว อีกฝ่ายไม่ต้องมาเจ็บปวด ถามว่าเราสูญเสียทีเดียวมันเจ็บอยู่แล้วแหละ แต่ว่าถ้าเกิดในอีกกรณีนึงที่ท่านคงสงสารเราด้วย คนนึงเสีย คนนึงเจ็บ เราต้องทำยังไง เราต้องแยกร่างยังไง คนนึงต้องจัดงาน อีกคนต้องดูแลที่โรงพยาบาล เราทิ้งใครไม่ได้

ในกระแสของความโกรธแค้นและความเกลียดชังที่ถาโถมเข้าสู่เหตุการณ์ครั้งนี้ และลุกลามสู่การแบ่งแยกความเป็นพุทธ-มุสลิม คือสิ่งที่เธอไม่อยากให้เกิดขึ้น และคาดหวังให้ผู้คนแยกแยะปัญหาอย่างระมัดระวัง เพราะเธอเองก็มีเพื่อน มีสังคมที่ร้อยรัดความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน

“ถ้าพูดถึง มันไม่ได้เกี่ยวกันนะ ในความรู้สึกเดียร์นะ เพื่อนก็คือเพื่อน คนที่เรารู้จักคือคนที่เรารู้จัก แต่บุคคลหรือกลุ่มคนนี้ที่เข้ามาก่อเหตุเป็นกลุ่มคนที่เราไม่รู้จักเลย ซึ่งเอาจริงๆ ในความรู้สึกเดียร์คือแยกแยะได้นะคะว่า ไหนคือเพื่อน ไหนคือคนที่เรารู้จัก ไหนคือกลุ่มคนร้ายที่เข้ามาลงมือก่อเหตุ กลุ่มคนเหล่านั้นเข้ามาทำร้ายครอบครัวเราก็จริง แต่ในกลุ่มคนเหล่านั้นไม่ได้มีคนที่เรารู้จัก แล้วก็ไมได้มีเพื่อนที่เราสนิท มันจึงไม่ได้ทำให้เรารู้สึกแย่มากกว่านี้ถ้ากลุ่มคนที่เข้ามาทำร้ายนั้นมีคนที่เรารู้จักหรือเพื่อนเราอยู่ในนั้น มันก็เลยไม่ทำให้เดียร์รู้สึกว่า การคบเพื่อนอิสลามหรือคนที่เรารู้จักมันจะเปลี่ยนไป ซึ่งมันก็ยังเหมือนเดิม แต่แค่เราแปลกใจว่า การที่เขามาทำร้ายคนที่เขาไม่ได้ทำอะไรให้เลยมันทำได้ยังไง แค่นั้นเอง แต่ถามว่ามันทำให้ความรู้สึกของเดียร์กับเพื่อนหรือเพื่อนบ้านแถวนี้เปลี่ยนไปหรือเปล่า…ก็คงไม่”

“มีเพื่อนที่เป็นมุสลิมโทรมาเยอะแยะว่าโอเคไหม เดียร์ก็บอกว่าเดียร์เข้มแข็งมากๆ นะ ในความรู้สึกตัวเองก็ไม่อยากจะอ่อนแอหรืออะไร ถามว่าเรารู้สึกไหมก็ต้องรู้สึกเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ไม่มีใครเจอเหตุการณ์แบบที่เดียร์เจอแล้วก็จะเข้มแข็งได้ตลอด ถามว่าเรามีแอบร้องไห้ไหม มีอยู่แล้ว แต่ว่า แค่ไม่อยากนาน ก็อยากจะฟื้นให้เร็วที่สุด… เพราะเรามีลูก”

ภาพ: อเนก ปิ๋วธัญญา

Related Posts

Send this to a friend