PUBLIC HEALTH

สธ.เผยผลศึกษาการใช้วัคซีนในไทย ชี้ ต้องปรับฉีดวัคซีนสูตรผสมเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน เร่งจัดหาวัคซีนรูปแบบอื่นเพิ่มเติม

วันนี้ (19 ก.ค. 64) นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 จากการใช้จริงภายในประเทศไทย 4 การศึกษาหลักดังนี้

การศึกษาแรก เป็นการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้ในกลุ่มประชาชนที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในพื้นที่ของจังหวัด ภูเก็ต ช่วงเดือน เมษายน – พฤษภาคม ปี 2564โดยได้มีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกว่า 1,500 คน ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม พบติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 124 คน การศึกษานี้ทำให้พบประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคในการป้องกันการติดเชื้ออยู่ในระดับ 90.7%

การศึกษาที่ 2 ประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้ในกลุ่มประชาชนที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในพื้นที่ จังหวัดสมุทรสาคร ช่วงเดือน เมษายน ปี 2564 โดยการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกว่า 500 คน พบผู้ติดเชื้อ จำนวน116 คน เปรียบเทียบประสิทธิผลผู้ได้รับวัคซีน 2 เข็ม กับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน พบประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อสูง 90.5% 

การศึกษาที่ 3 ในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย ช่วงเดือน มิถุนายน เป็นการศึกษาในกลุ่มบุคลากรสุขภาพซึ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกว่า 500 คน พบติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 40 คน เชื้อสายพันธุ์อัลฟา พบประสิทธิผลคนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มป้องกันการติดเชื้อ 88.8% ป้องกันปอดอักเสบ 84.9%

ในขณะที่บุคลากรสุขภาพในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 50 คน ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาแล้ว 1 เข็ม ครบ 14 วัน ประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อได้ 83.8% โดยพบติดเชื้อ 5 คน ในจำนวนนี้ไม่พบอาการปอดอักเสบ

การศึกษาที่ 4 ในกลุ่มบุคลากรสุขภาพ กรมควบคุมโรคติดตามจากฐานข้อมูลเฝ้าระวังการเจ็บป่วย เปรียบเทียบกับข้อมูลการฉีดวัคซีนของประเทศ ช่วง 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 64  ซึ่งเป็นการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์อัลฟา พบประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวคป้องกันการติดเชื้อได้ 71%  

“วัคซีนทุกตัวปลอดภัย ส่วนประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ภาวะความเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย แต่ประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคในการใช้จริงของไทย ได้ผลดีพอสมควร ประสิทธิผลป้องกันติดเชื้ออยู่ที่ร้อยละ 90 ในช่วงที่มีการระบาดสายพันธุ์อัลฟ่า และในเรื่องป้องกันอาการปอดอักเสบก็ใกล้เคียงกันประมาณร้อยละ 85 จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ ไม่ใช่ว่าวัคซีนซิโนแวคไม่มีประสิทธิภาพ แม้ขณะนี้จะมีการระบาดของเดลต้า เราก็ติดตามต่อเนื่อง ไม่ใช่รอว่าให้วัคซีนมีประสิทธิผลต่ำแล้วมาเปลี่ยนการใช้วัคซีน แต่เราคาดการณ์ล่วงหน้าและปรับรูปแบบการฉีดวัคซีนล่วงหน้า เพราะผลทางห้องปฏิบัติการดูแล้วว่า หากใช้วัคซีนเชื้อตาย ประสิทธิผลอาจไม่สูงมาก ดังนั้น มาตรการ วิธีการในการฉีดวัคซีนของ สธ. และที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล จึงต้องใช้วิธีที่เรามีอยู่ ทั้งซิโนแวค และแอสตร้าฯ หรือวัคซีนอื่นๆ ที่จะเข้ามา เพื่อเพิ่มประสิทธิผลให้มากที่สุด” นพ.ทวีทรัพย์กล่าว

นายแพทย์ทวีทรัพย์กล่าวต่อว่า ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกยังมีความจำกัดของวัคซีน ประเทศไทยยังมีความจำเป็นและควรใช้วัคซีนซิโนแวคต่อไป เนื่องจากวัคซีนซิโนแวคเองถือว่ายังมีประสิทธิผลดี ดังผลการศึกษาประสิทธิผลในประเทศ และยังสามารถจัดหาได้เร็ว ปริมาณพอสมควรได้โดยไม่ต้องรอถึงไตรมาส 4 หรือปีหน้า ที่อาจทำให้ไม่ทันการณ์ต่อการป้องกันควบคุมการระบาดในขณะนี้ สถานการณ์การขาดแคลนวัคซีนเป็นไปเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีความพยายามในการจัดหาวัคซีนอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดสามารถตกลงที่จะนำวัคซีน mRNA คือวัคซีนไฟเซอร์ เข้ามาเพิ่มเป็นวัคซีนหลักอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย จำนวน 20 ล้านโดส โดยบริษัทคาดว่าสามารถจัดส่งให้ช่วงไตรมาส 4 คือ หลังตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

Related Posts

Send this to a friend