BUSINESS

ใครว่า Lock Down เท่ากับ Slow Down ปรับมุมคิด ปรับตัวให้เข้ากับ New Normal ยุคโควิด-19

แม้โควิด-19 จะเข้ามาส่งผลกระทบอย่างมากต่อแทบทุกธุรกิจ การปิดกิจการและกิจกรรมหลายประเภททำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป แต่หากแบรนด์ หรือธุรกิจมุ่งมั่นในการปรับตัว และการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง ถึงจะล็อกดาวน์ ก็ไม่ทำให้ธุรกิจสโลว์ดาวน์เสมอไป

“สถานการณ์ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับทุกภาคธุรกิจ แต่การล็อกดาวน์ภายใต้สถานการณ์นี้ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะดำเนินธุรกิจช้าลง เพราะต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ ในขณะที่การดูแลตัวเองด้วยผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและการดำเนินชีวิตประจำวันยังคงเป็นสองสิ่งจำเป็นที่มาคู่กันเสมอ” นางอินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

นางอินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด

และจากการเร่งปรับตัวของ ลอรีอัล ประเทศไทย ทำให้เกิดโอกาสใหม่สำหรับธุรกิจ นั่นคือการเติบโตของช่องทางการจัดจำหน่ายทางออนไลน์ ซึ่งเติบโตขึ้นระดับตัวเลข 3 หลัก (เท่าตัวขึ้นไป) ในเดือนเมษายน และพฤษภาคมนี้

“บริษัทได้เพิ่มทักษะให้กับที่ปรึกษาด้านความงาม (Beauty Advisor) ที่ประจำเคาน์เตอร์ต่างๆ ทางช่องทางการจัดจำหน่ายเดิมในช่วงที่มีการปิดห้างสรรพสินค้า มาสู่การเป็น ที่ปรึกษาด้านความงามทางช่องทางออนไลน์ (e-BA) เพื่อให้บริการกับลูกค้าในการซื้อสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์ต่างๆ ของลอรีอัลใน 17 แพล็ตฟอร์มของบริษัท ที่ครอบคลุมและเข้าถึงลูกค้าได้กว้าง และมีประสิทธิภาพ ทำให้ช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์ของเราเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว” อินเนส กล่าว

หลังจากการผ่อนคลายมาตรการ และการเปิดกิจการ กิจกรรมในระยะที่ 2 ซึ่งรวมถึงการเปิดให้บริการของห้างสรรพสินค้าแล้ว ลอรีอัล ประเทศไทย มองว่า ช่องทางการจัดจำหน่ายทางออฟไลน์ ที่ร้าน เคาน์เตอร์ และห้างร้านต่างๆ ยังมีความสำคัญอยู่ แม้การจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์จะประสบความสำเร็จแต่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับช่องทางออฟไลน์ไปควบคู่กัน

ข้อมูลของ Euromonitor พบว่าในปี 2562 ที่ผ่านมา ตลาดผลิตภัณฑ์ความงามในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตมากกว่าปี 2561 ถึงร้อยละ 6.7 ด้วยมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.18 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของทั้งโลกซึ่งเติบโตที่ร้อยละ 5.5 โดยกลุ่มที่เติบโตสูงสุดได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีสัดส่วนถึง 42% ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์ด้านเส้นผม 15% เครื่องสำอาง 12% ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย 14% ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากถึง 12% และน้ำหอม 5%

อย่างไรก็ตาม กรรมการผู้จัดการ ลอรีอัล (ประเทศไทย) กล่าวว่าสำหรับคาดการณ์ตลาดในปี 2563 นี้ น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และแม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การดูแลผิวพรรณ และสุขอนามัยยังคงมีความสำคัญอยู่ และตลาดประเทศไทยยังคงเป็นตลาดที่มีความสำคัญ และมีการเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ย เช่นเดียวกับตลาดในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิค

สำหรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไปในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เห็นได้ชัดคือการปรับเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่อ่อนลง เนื่องจากปัจจุบันเราต้องใส่หน้ากากเวลาออกนอกบ้าน ทำให้รู้สึกว่าอยากได้ผลิตภัณฑ์ที่เบาบางขึ้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม การทำสีผม การดูแลผมก็จะได้รับความสำคัญมากขึ้น ส่วนเครื่องสำอาง กลุ่มที่เป็นเครื่องสำอางสำหรับผิวหน้า รองพื้น และดวงตายังมีความสำคัญอยู่มาก เพราะเป็นส่วนที่มองเห็นอยู่ตลอดเวลาเช่นเดิม แต่กลุ่มลิปสติกผู้บริโภคอาจจะให้ความสำคัญน้อยลงบ้าง

“เป้าหมายของเรายังคงเป็นเป้าหมายเดิมในการเป็นผู้นำตลาดความงามโดยรวม พร้อมไปกับการนำเทคโนโลยีความงาม (Beauty Tech) ซึ่งลอรีอัล เป็นผู้นำในตลาดมานำเสนอให้กับผู้บริโภคผ่านนวัตกรรมด้านความงามต่างๆ แต่ที่สำคัญ คือเรายังมุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมปันน้ำใจ เพื่อมอบความช่วยเหลือให้แก่สังคมและภาคส่วนต่างๆ อย่างเต็มที่ โดยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เรามีโครงการต่างๆ อาทิ การมอบชุดผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเส้นผมให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุช 130,000 คน ใน 28 โรงพยาบาลทั่วประเทศเป็นมูลค่ากว่า 150 ล้านบาท และมอบผลิตภัณฑ์ในเครือให้กับกลุ่มบุคคลที่ขาดโอกาสทางสังคมกว่า 100,000 คนเพื่อให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดและดูแลผิว และผมในชีวิตประจำวันได้” อินเนสกล่าว

“สิ่งสำคัญที่สุดคือการช่วยเหลือเกื้อกูล ดูแลกันเพื่อให้ฟื้นฟูได้รวดเร็วที่สุด และผ่านวิกฤตโควิด-19 นี้ไปด้วยกัน”

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด

Related Posts

Send this to a friend