คปภ. เปิดเวทีฟังความคิดเห็นเครือข่ายผู้บริโภค ได้มติเอกฉันท์

“ควรยืนตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564” ไม่ให้ บ.ประกันภัยบอกเลิกกรมธรรม์แบบเหมาเข่ง
หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ไม่ให้บริษัทประกันภัยบอกเลิกกรมธรรม์แบบเหมาเข่ง ซึ่งบริษัทประกันภัยต่างๆ รวมทั้งสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ออกมาตอบรับและยืนยันที่จะให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยจนสิ้นสุดสัญญา แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ทำหนังสืออุทธรณ์การออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อเปิดช่องให้บริษัทประกันภัยสามารถบอกเลิกประกันภัยโควิดแบบ “เจอ จ่าย จบ” ได้ ซึ่งสำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างพิจารณาอุทธรณ์เพื่อเสนอความเห็นต่อบอร์ด คปภ.
เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน สำนักงาน คปภ. จึงได้เชิญตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ประกอบด้วย สมาคมส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภค , สมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกทม. , สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค , สภาองค์กรของผู้บริโภค และมูลนิธิกลุ่มเส้นด้าย มาร่วมให้ความเห็นและให้ข้อแนะนำทิศทางการดำเนินการในเรื่องนี้
ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีควาเห็นว่า การออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ถูกต้องและมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนบริษัทประกันภัยที่ใช้สิทธิในการบอกเลิกสัญญา แม้ว่าในสัญญาจะเปิดช่องให้สามารถบอกเลิกสัญญาได้ แต่กรณีดังกล่าวต้องเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยสุจริต ตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บริษัทประกันภัยจะต้องวางแผนรับความเสี่ยงอยู่แล้วก่อนออกผลิตภัณฑ์ โดยไม่สามารถอ้างได้ว่า การแพร่ระบาดของโรคมีผลต่อการบริหารความเสี่ยงภายหลังจากที่มีการออกผลิตภัณฑ์แล้ว หากนายทะเบียนยินยอมให้บริษัทประกันภัยเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียว จะขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 เท่ากับเป็นการยินยอมให้บริษัทประกันภัยหลอกลวงผู้เอาประกันภัย
ด้านประธานมูลนิธิกลุ่มเส้นด้าย ให้ข้อมูลว่า หลังจากทางกลุ่มโพสต์ประเด็นการยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ในเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งมีผู้ติดตามประมาณ 500,000 ราย พบว่าประมาณ 99.50 เปอร์เซ็นต์ ที่แสดงความเห็น ไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้สำนักงาน คปภ. ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว หลายคนบอกว่า ช่วงนี้มีความยากลำบากมากอยู่แล้ว การที่ประกันภัยเข้ามาช่วยเหลือ สามารถเยียวยาความเสียหายในกรณีที่มีบุคคลในครอบครัวติดเชื้อโควิด ถือเป็น financial loss เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อจะไม่สามารถทำงานได้ จึงเห็นว่า สำนักงาน คปภ. ควรยืนตามคำสั่งนายทะเบียนเดิม แต่ก็มีความเห็นจากประชาชนจำนวนหนึ่งว่า หากจะมีการยกเลิกกรมธรรม์และคืนเบี้ยประกัน การคืนเบี้ยก็ไม่ควรเป็นการคืนแบบสัดส่วน (Pro Rata) ควรคืนให้ผู้เอาประกันภัยแบบเต็มจำนวน เสมือนว่าไม่เคยเกิดสัญญาขึ้น
ด้านเลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า จากการหารือพบว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องตรงกันว่า หากยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 และยินยอมให้บริษัทประกันภัยสามารถยกเลิกกรมธรรม์ต่อผู้เอาประกันภัย ขัดต่อพรบ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 จะส่งผลให้มีคดีเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการประกันภัย และทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในระบบประกันภัย ที่ประชุมจึงมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ควรยืนตามคำสั่งนายทะเบียน