BUSINESS

ปลัดคลัง แจง “ปลูกกล้วยที่รกร้าง” อำนาจจัดเก็บภาษีเป็นของท้องถิ่น

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผย กรณีผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เข้าหารือเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในกรณีที่มีการปลูกพืช หรือทำเกษตรในที่ดินรกร้างว่างเปล่าใจกลางเมือง ว่า ตนยังไม่ได้รับรายงาน ทราบเพียงว่า คณะอนุกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำลังจัดทำรายละเอียด เพื่อนำเสนอคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างชุดใหญ่ ที่มีตนเป็นประธาน

อย่างไรก็ตาม ในหลักการของพระราชบัญญัติจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ต้องการกระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินทั่วประเทศ ส่วนอำนาจการจัดเก็บภาษี เป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเงินภาษีที่จัดเก็บได้ จะนำกลับมาพัฒนาท้องถิ่น ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา เจ้าของที่ดินรกร้างว่างเปล่า ใช้พื้นที่ปลูกพืชเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี เรื่องนี้ก็ถือเป็นสิทธิของเจ้าของที่ดิน แต่อำนาจการจัดเก็บภาษีเป็นของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ที่ต้องใช้ดุลพินิจในการพิจารณา ว่าจะมีการจัดเก็บภาษีหรือไม่

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้กำหนดอัตราภาษีสูงสุดที่ให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดเก็บภาษีตามประเภทที่ดิน คือ ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อัตราเพดาน อยู่ที่ 0.15% ของมูลค่าที่ดิน , ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย อัตราเพดานอยู่ที่ 0.3% ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่วนที่ดินประเภทอื่น นอกเหนือจากเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย เช่น ที่ดินที่ใช้ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม รวมถึงที่ดินรกร้างว่างเปล่า มีอัตราเพดานอยู่ที่ 1.2%

นอกจากนี้ คณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังกำหนดอัตราภาษีแนะนำแต่ละประเภทที่ดิน เป็นแนวทางให้ท้องถิ่นจัดเก็บ ซึ่งท้องถิ่นจะจัดเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราแนะนำ หรือสูงกว่าก็ได้ แต่ต้องไม่เกินเพดานที่กำหนด

Related Posts

Send this to a friend