BUSINESS

บางกอกเคเบิ้ล ชี้เป้า 5 จุดต้องตรวจเช็คหลังเหตุแผ่นดินไหว

บางกอกเคเบิ้ล ชี้เป้า 5 จุดต้องตรวจเช็คหลังเหตุแผ่นดินไหว แนะ 3 มาตรการป้องกันสายไฟ ย้ำ เลือกสายไฟที่ได้มาตรฐาน เพิ่มความปลอดภัย

บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด ประเมินสภาพปัญหา พร้อมแนะนำแนวทางตรวจเช็คสายไฟฟ้าสำหรับทั้งบ้านและอาคาร รวมถึงแนวทางแก้ไข และป้องกัน เพื่อความปลอดภัยในการอยู่อาศัย หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เนื่องจากสายไฟทั้งบนดินและใต้ดินที่ได้รับผลกระทบอาจส่งผลให้เกิดไฟฟ้าขัดข้อง เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย

นายพงศภัค นครศรี ประธานเจ้าหน้าที่สายงานขายและการตลาด บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด หรือ Bangkok Cable (BCC) กล่าวว่า การตรวจสอบความเสียหายของสายไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าหลังแผ่นดินไหว สำหรับกลุ่มเจ้าของบ้าน เจ้าของห้องชุดในคอนโดมิเนียม ตลอดจนเจ้าของอาคาร มี 5 จุดหลักที่ต้องตรวจเช็ค ประกอบด้วย

กลุ่มงานระบบไฟฟ้าของอาคาร 2 จุด คือ ‘ตู้ควบคุมไฟฟ้า’ ตรวจสอบว่าประตูของตู้ Main Distributor Board หรือ MDB และตู้ย่อยอื่น ๆ ยังปิดสนิท ไม่มีรอยบิดเบี้ยว หรือความเสียหายเชิงโครงสร้าง และ ‘ระบบสำรองไฟฟ้า’ ตรวจสอบเครื่องสำรองไฟฟ้า (UPS) แบตเตอรี่สำรอง หรือเครื่องปั่นไฟ ว่ายังสามารถใช้งานได้ตามปกติหรือไม่

กลุ่มงานระบบและสายไฟในห้องพัก 3 จุด ได้แก่ ‘เบรกเกอร์หลักและระบบป้องกันไฟฟ้า’ เบรกเกอร์หลักต้องยังทำงาน ไม่หลุดลงเอง รวมถึงไม่ตัดวงจรอัตโนมัติ, ‘จุดเชื่อมต่อและการยึดติดของสายไฟฟ้า’ สายไฟฟ้าต้องไม่มีร่องรอยการขาด ชำรุด หรือหลุดจากจุดเชื่อมต่อ รางสายไฟและท่อร้อยสายยังคงยึดแน่นกับโครงสร้าง และ ‘สภาพของสายไฟฟ้า’ ไม่มีรอยฉีกขาด ฉนวนหรือเปลือกแตก ละลาย ซึ่งอาจเป็นผลจากไฟฟ้าลัดวงจรหรือความร้อนสะสม นอกจากนี้ อาจสังเกตเพิ่มเติมด้วยการฟังเสียงผิดปกติของอุปกรณ์ ตลอดจนการดมกลิ่นไหม้ เพื่อตรวจสอบความเสียหายที่มองไม่เห็น

“กรณีเป็นเจ้าของห้องพักคอนโดมิเนียม หรือผู้เช่าห้องพักในอาคารสูง บางจุด เช่น ตู้ MDB อาจไม่สามารถตรวจสอบด้วยตัวเองได้ รวมถึงอาจมีอีกหลายจุดที่ต้องรอการยืนยันความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าส่วนกลางจากบริษัทบริหารนิติบุคคลอาคารก่อน เช่น ความปลอดภัยของระบบลิฟท์ ความปลอดภัยของสายไฟในพื้นที่ส่วนกลาง การไม่มีเสาไฟล้มเอียงโดยรอบอาคาร ข้อสำคัญคือ หากพบความเสียหายในจุดต่าง ๆ ไม่ว่าในห้องพักหรือพื้นที่ส่วนกลาง ห้ามซ่อมแซมด้วยตัวเอง เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ต้องแจ้งช่างไฟฟ้าที่มีความเชี่ยวชาญให้เข้าดำเนินการแก้ไขเท่านั้น” นายพงศภัค กล่าว

นายพงศภัค กล่าวเพิ่มเติมว่า แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงระบบไฟฟ้า อาจทำให้สายไฟเสียหายจนเกิดไฟฟ้าลัดวงจรและอัคคีภัยตามมา หากไม่ใช้สายไฟที่มีคุณภาพ หรือการติดตั้งที่ถูกวิธี การติดตั้งสายไฟลงดินเป็นอีกหนึ่งในวิธีในการลดความเสี่ยงจากผลกระทบของเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้ อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้สายไฟที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่น ทนทานต่อแรงดึงและแรงกระแทกในอาคารต่าง ๆ ก็มีความสำคัญ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับอาคารมากยิ่งขึ้น

สำหรับกลุ่มอาคารดั้งเดิม อาจไม่สามารถออกแบบระบบไฟฟ้าได้ใหม่ทั้งหมด แต่สามารถแบ่งการปรับปรุงเพื่อป้องกันแผ่นดินไหวได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่

1.ระดับที่ทำได้ง่ายและควรทำทันที เพิ่มจุดยึดให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าหลัก เช่น หม้อแปลงไฟฟ้า ตู้ MDB ตู้ไฟฟ้าย่อย และแผงควบคุมไฟฟ้า ลดความเสี่ยงจากการล้ม หรือหลุดจากตำแหน่ง เปลี่ยนจุดต่อสายไฟและขั้วต่อไฟฟ้าให้เป็นแบบยืดหยุ่น ป้องกันการแตกหักจากแรงสั่นสะเทือน เดินสายไฟในท่อร้อยสายที่มีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะในจุดที่เสี่ยงต่อแรงดึง

2.ระดับที่ต้องมีการแก้ไขโครงสร้างบางส่วน เปลี่ยนสายไฟจากแบบปกติเป็นแบบมีความยืดหยุ่นสูง ติดตั้งระบบตัดไฟอัตโนมัติ ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรหากเกิดแรงสั่นสะเทือนรุนแรง เสริมโครงสร้างยึดรางสายไฟให้แข็งแรงขึ้น

3.ระดับที่อาจต้องพิจารณาควบคู่กับการปรับปรุง (รีโนเวท) อาคาร เช่น สายไฟฝังในผนังเก่าที่แตกร้าวหรือเดินสายไฟโดยใช้ตัวนำเส้นเดี่ยวที่มีความแข็ง ไม่ยืดหยุ่น อาจต้องพิจารณารีโนเวทโครงสร้างระบบไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด

สำหรับการเลือกสายไฟ ต้องเลือกใช้สายไฟที่มีคุณภาพสูง เนื่องจากสายไฟ คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินโดยตรง การเลือกสายไฟคุณภาพ ได้แก่

1.การนำไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยวัสดุตัวนำคุณภาพสูง ใช้ทองแดงบริสุทธิ์ 99.99% มีความมันวาวชัดเจน

2.ความทนทานและอายุการใช้งานยาวนาน โดยตัวนำและฉนวนอยู่กึ่งกลาง ไม่เบี้ยวหรือมีจุดที่ฉนวนบาง รวมทั้งสายไฟต้องไม่ชำรุดปริแตก บรรจุภัณฑ์ไม่ฉีกขาด

3.มาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล ต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน มอก., ISO และมาตรฐานสากลอื่น ๆ เป็นต้น

Related Posts

Send this to a friend