ในปี พ.ศ. 2562 จากการจัดอันดับเมืองทั่วโลก กรุงเทพฯ ครองอันดับ 1 ในฐานะเมืองยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทค้างแรมติดต่อกันเป็นปีที่ 4 และนับเป็นครั้งที่ 6 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าเมืองอื่นๆ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นเพียงประเทศเดียวในการสำรวจ GDCI ที่มีเมืองท่องเที่ยวถึง 3 เมืองที่ติดอันดับ 20 เมืองแรกในกลุ่มที่มี “นักท่องเที่ยวประเภทค้างแรม” มากที่สุด (กรุงเทพฯ ภูเก็ต และพัทยา) และมีถึง 2 เมืองที่ติดอันดับ 10 เมืองแรกที่ “นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากที่สุด” (กรุงเทพฯ และภูเก็ต) ทั้งนี้ การสำรวจสุดยอดจุดหมายปลายทางโลก 2562 (GDCI 2019)จัดอันดับเมืองจุดหมายปลายทางยอดนิยม 200 เมือง โดยเป็นการสำรวจด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนนักเดินทางและการจับจ่ายใช้สอยในปี 2561 โดยมาสเตอร์การ์ด
จากผลการสำรวจพบว่านักเดินทางประเภทค้างแรมมียอดใช้จ่ายในกรุงเทพฯ มากถึง 20 พันล้านเหรียญสหรัฐ และกว่า 12 พันล้านเหรียญสหรัฐในภูเก็ต คิดเป็นยอดการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และร้อยละ 9 ตามลำดับเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2560 ขณะที่ ยอดการจับจ่ายใช้สอยของของนักเดินทางที่หาดใหญ่เพิ่มมากที่สุดถึงร้อยละ 19 โดยมาจากนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย
ถึงแม้ว่า นักเดินทางจากจีนแผ่นดินใหญ่เป็นกลุ่มหลักที่เดินทางมาเยือนไทย ผลสำรวจพบว่าแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ โดยเฉพาะหมู่เกาะต่างๆ เป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยวจากประเทศแถบยุโรปและประเทศญี่ปุ่น นักท่องเที่ยวจากประเทศเยอรมนีถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักสำหรับหมู่เกาะอย่าง พังงา (25.1%) เกาะสมุย (17.1%) เกาะเต่า (11.4%) และเกาะช้าง (11.3%) ขณะเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่เดินทางมายังอยุธยา เมืองหลวงเก่าของไทย มีมากถึงร้อยละ 25.5 เพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2560
ผลสำรวจฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นถึงเมืองอื่นๆ ที่มีศักยภาพเป็นเมืองท่องเที่ยวใหม่ เช่น เกาะพงัน ซึ่งคว้าอันดับที่ 96 จาก 100 เมืองยอดนิยมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นำหน้าเกาะชื่อดังอย่าง เกาะช้าง (139) เกาะเต่า (130) เกาะโบราไกย์ ประเทศฟิลิปปินส์ (129) และเกาะลอมบอก ประเทศอินโดนีเซีย (110) ส่วนหาดใหญ่ซึ่งอยู่ที่อันดับ 31 ในการสำรวจครั้งนี้ เลื่อนขึ้นมา 27 อันดับ
ผลสำรวจสุดยอดจุดหมายปลายทางโลก (GDCI) และเอเชียแปซิฟิก (APDI) ของมาสเตอร์การ์ดช่วยให้องกรค์การท่องเที่ยวของภาครัฐและเอกชนทั่วโลกเข้าใจถึงผลกระทบของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศต่อเมืองต่างๆ รวมถึงช่วยในการวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรค และหาแนวทางแก้ไขเพื่อมอบประสบการณ์ที่ทุกคนจะมีส่วนร่วมและเกี่ยวโยงกันมากขึ้น