พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 10 ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี เพื่อดำเนินการตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ ปี ค.ศ. 2016-2020
นาย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ แถลงข่าวผลการหารือ ที่ UN พร้อมสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนกับอาเซียน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change ที่เป็นปัญหาสำคัญของโลก หากไม่แก้ไขเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบกับประชากรกว่า 300 ล้านคน ภายในปี 2050 ซึ่งกว่า 70 % อยู่ในภูมิภาคเอเชีย และ อาเซียน
UN จึงตั้งเป้าควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนด การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ เป็นศูนย์ ภายในปี 2050 มีมาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ยกเลิกอุดหนุนพลังงานฟอสซิล ลดการใช้พลังงานถ่านหิน มาใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานทางเลือก
เลขาธิการ UN ขอให้ทุกภาคส่วน นักวิทยาศาสตร์ หาแนวทาง ลดการใช้ถ่านหินอย่างจริงจัง และยกเลิกการสร้างโรงงานไฟฟ้าจากถ่านหิน
ที่ประชุม ยังได้หารือเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และการโยกย้ายถิ่นฐาน และสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ประเทศ เมียนมา ซึ่งขอให้มีความร่วมมือเพื่อสร้างความปรองดอง และการส่งผู้อพยพ กลับบ้านโดยสวัสดิภาพและปลอดภัย
เลขาธิการ UN เห็นถึงความพยายามที่มากขึ้นของอาเซียน ในการแก้ปัญหารัฐยะไข่ เช่นการที่จะมีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจแก้ไขเรื่องนี้โดยเฉพาะ รวมถึงไม่ให้มีการสร้างความเกลียดชังกับกลุ่มโรฮิงญา จึงหวังจะเห็นสันติภาพในรัฐยะไข่
เลขาธิการ UN เห็นว่า ปัญหาการค้ามนุษย์นั้น ตนมองว่าการโยกย้ายถิ่นฐานเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ และในสภาวะสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้แรงงานต่างด้าว จึงต้องควบคุมให้ผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมาย และมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยลดปัญหาการค้ามนุษย์ได้
เลขาธิการสหประชาชาติ ยังกล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในลุ่มแม่น้ำโขง ที่อาเซียนต้องร่วมมือกันในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งการใช้ทรัพยากรร่วมกันในหลายประเทศจะต้องร่วมมือหาทางออก เพื่อให้ทุกฝ่ายสมประโยชน์