นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการประชุมระดับรัฐมนตรี ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่าย ว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดในอนุภูมิภาค ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2562 ว่า การประชุมได้มี 6 ประเทศจากกลุ่มลุ่มน้ำโขง คือ จีน ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม
นอกจากนี้การประชุมยังได้เชิญเอกอัครราชทูต จาก 20ประเทศ ที่เป็นต้นทางและปลายทางของยาเสพติด มาร่วมรับฟังแนวทาง อาทิ เอกอัครราชทูตจากออสเตรเลีย เดนมาร์ก ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้มีการร่างปฏิญาณกรุงเทพฯ และแผนปฏิบัติการต่อต้านยาเสพติดในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง พร้อมประกาศ คิกออฟแคมเปญ การปราบปราบปรามยาเสพติด เรียกว่า “แผนปฏิบัติการ 1511 ” ซึ่งแนวทางการทำงานนั้น คือ การปราบปรามยาเสพติดพร้อมกัน 6 ประเทศ
“เราจะดีเดย์พร้อมกัน ซึ่งเราจะกำหนดวันเมื่อผู้บริหารระดับสูงตกลงกำหนดร่วมกันในเร็วๆนี้”
แผนงานเบื้องต้น คือการยกระดับการป้องกันสารตั้งต้นเข้าพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ โดยมีสาร 25 ชนิด ที่สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ UNODC กำหนด รวมทั้งสารอีก 12 ชนิดที่ประเทศไทยประกาศเพิ่ม สาเหตุที่สารตั้งต้นมีมากมายขนาดนี้เพราะสารแต่ละตัวเมื่อนำมารวมกันแล้วจะกลายเป็นเคมีภัณฑ์ที่เป็นอันตราย เราต้องดำเนินการให้เด็ดขาด นี่คือความหมายของแผนปฏิญาณกรุงเทพฯ
“เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การป้องกันและปราบปราม แต่รวมถึงการบำบัดดูแล แลกเปลี่ยนข้อมูลของแต่ละประเทศด้วย แผนปฏิบัติการนั้นจะใช้เวลา 2 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2562-2564ในแผนครั้งนี้มี 4 ประเด็นหลัก คือ 1.ปัญหายาเสพติดที่ทำลายสุขภาพ 2.เรื่องการปราบปรามและป้องกัน 3.เรื่องกฎหมายของแต่ละประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ ต้องบูรณาการร่วมกันให้คล่องตัว 4.การพัฒนาอาชีพทดแทน ซึ่งในส่วนนี้ประเทศไทยได้รับการชื่นชมในผลงานที่น่ายกย่องจากการประชุม เพราะในส่วนนี้เป็นพระราชกรณียกิจ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงงานต่อเนื่องจนถึง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น สิ่งที่ดีตรงนี้ได้รับการเชิดชูและยกย่องจากกลุ่มประเทศที่ร่วมมือกัน” นายสมศักดิ์ กล่าว