ASEAN

เปิดใจ! นักต่อสู้ประชาธิปไตยชาวเมียนมา ถูกตามล่าถึงชายแดน

วันนี้ (30 ธันวาคม 2564) The Reporters พบกับนักกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยชาวเมียนมาคนหนึ่งที่หนีภัยการสู้รบ จากเมืองเลเกก่อ รัฐกะเหรี่ยง หลังทหารเมียนมาเปิดปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร จนเกิดคลื่นการอพยพครั้งใหญ่ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ด้านจ.ตาก

“ผมเป็นนักกิจกรรมที่ต่อสู้อยู่ในนครย่างกุ้งตั้งแต่เดือน ก.พ. ถึง เม.ย.หลังการรัฐประหาร แต่สถานการณ์ที่ย่างกุ้งค่อนข้างอันตราย เพราะกองทัพพยายามตามล่าหาตัวเพื่อจับกุม เมื่อเราไหวตัวทันจึงตัดสินใจหลบหนีออกจากย่างกุ้ง จนกระทั่งกลางปีจึงได้ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดเมียวดีตรงข้ามกับอำเภอแม่สอด มิวายกองทัพก็ยังมีสายข่าวพลเรือนที่แอบแจ้งพิกัดของผมและกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force: PDF) ผมจึงไปหลบซ่อนอยู่ที่หมู่บ้านเลเกก่อ ก่อนที่ปลายปีนี้กองทัพจะพยายามแทรกซึมเข้ามาถึง 4 หมู่บ้านหลัก คือ เลเกก่อ เมียวดี แม่ทอดตะเล และผาลู.”

เขาอธิบายปฏิบัติการของกองทัพเมียนมาที่พยายามเข้าเลเกก่ออย่างต่อเนื่องถึง 8 ครั้ง หนึ่งในเหตุการณ์สะเทือนขวัญก่อนการมีสู้รบครั้งล่าสุด คือมีการจับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเมืองอิรวดี หรือ CDM และสมาชิก PDF รวม 8 คน เข้าสู่กระบวนการสอบสวนของทหาร และทรมานจนบางคนถึงแก่ความตาย ส่วนคนที่เหลือก็ไม่รู้ชะตากรรมว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่

“เท่าที่ผมรู้คือ กองทัพเมียนมาได้บุกโจมตีและควบคุมฐานที่ตั้งของ KNU ได้ โดยมีพลเรือนถูกเผา เพื่อนของผม 2 คนถูกทหารสังหาร อีก 1 คนถูกตัดขา และอีก 1 คนถูกยิงที่เท้า นำส่งรักษาพยาบาแล้ว ส่วนคนอื่นก็ยังไม่รู้ชะตากรรมว่ามีชีวิตไหม หรือเสียชีวิต หรือไปอยู่ที่ไหนแล้ว.” เขากล่าวทั้งน้ำตา

นักกิจกรรมชาวเมียนมาคนนี้ประเมินว่า ขอบเขตความเดือดร้อนกระทบผู้คนมหาศาลเกินกว่าจะระบุจำนวนแน่ชัดได้ มีผู้อพยพหนีภัยไปยังพื้นที่ชายแดนทั้งสองฝั่ง คนที่ข้ามพรมแดนมาไทยไม่ได้เพราะว่าขาดแคลนทางการเงิน หรือไร้ญาติคนรู้จักในฝั่งไทย ที่ท้ายสุดต้องแสวงหาช่องทางในการลี้ภัยไปประเทศที่ 2 ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการ แต่ต้องการสู้กับรัฐบาลทหารเพื่อทวงคืนประชาธิปไตย แที่กองทัพเมียนมาพยายามทุกวิถีทางในการกวาดล้างพวกเขา แม้กระทั่งการตัดกำลังทางการเงินจากเครือญาติหรือแม้กระทั่งการสืบสวนและจับกุมท่อน้ำเลี้ยงให้กับกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยด้วย

“พื้นที่ในฝั่งเมียนมาโดยเฉพาะเลเกก่อ มี CDM อยู่หลายจำพวก ทั้งที่เคยอยู่ในกรมตำรวจ กรมทหาร กรมรถไฟ กระทรวงทบวงกรม หน่วยงานราชการ แพทย์พยาบาล นักกิจกรรมติดอาวุธหรือนักกิจกรรมใต้ดินที่มีหมายจับติดตัว นอกจากนี้ยังมีกลุ่มองค์กรการกุศลที่สนับสนุนผู้ลี้ภัยหรือผู้ที่เดือดร้อนจากเหตุการณ์รัฐประหาร กลุ่มองค์กรการกุศลนี้เองก็ยังถูกเพ่งเล่งจากกองทัพว่าอยู่ฝั่งเดียวกันกับ PDF ด้วย”

นักกิจกรรมคืนนี้ เปิดเผยว่า ผู้คนจำนวนมหาศาลกำลังหลบหนีและแสวงหาพื้นที่ที่กองทัพไม่สามารถเข้าถึงพวกเขาได้ แม้ก่อนหน้าที่สงครามจะเกิดขึ้น ไทยก็มีค่ายผู้ลี้ภัยมานาน แต่ตอนนี้ผู้คนข้ามพรมแดนมาพึ่งพิงได้ลำบาก บางคนที่มีหมายจับติดตัวก็ต้องข้ามพรมแดนมาอย่างผิดกฎหมาย ก็หวาดกลัวว่าจะถูกทหารไทยจับกุมแล้วส่งกลับไปยังฝั่งเมียนมาซึ่งจะถูกกองทัพจับกุมดำเนินคดี หรืออาจเข้ากระบวนการสอบสวนได้ในท้ายที่สุด จึงอยากให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทางการเมืองเหล่านี้ เพราะพวกเขาไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบ

“ผู้ลี้ภัยก็เป็นเพียงผู้ที่ลี้ภัยมาทั้งสิ้น…” เขากล่าวถึงความหวังต่อรัฐบาลไทย

ส่วนกลไกขององค์การระหว่างประเทศในสายตานักกิจกรรมชาวเมียนมาคนนี้ เขาระบุว่า แม้องค์การระหว่างประเทศอย่างองค์การสหประชาชาติ (UN) และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) จะแสดงออกถึงความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงพวกเขากลับไม่ตอบสนองอะไรเลย แม้จะมีการประชุมแต่ก็เป็นวงปิดและไม่บรรลุผลลัพธ์อะไรได้ ดังนั้น ผู้คนที่อยู่กับสถานการณ์ก็ยังคงประสบกับความท้าทายตลอดเวลา แน่นอนว่าเราต้องการความช่วยเหลือ ต้องการสันติภาพให้เกิดขึ้นจริง แต่ตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ ก็กลับไม่มีการตอบสนองอะไร

“ผมขอยกตัวอย่างการโจมตีด้วยอากาศยานที่เราเห็นกัน ก็มักจะสร้างความเสียหายต่อพลเรือนมากกว่ากองกำลังของ KNU ทำให้ KNU ก็ออกแถลงการณ์ขอให้น่านฟ้าดังกล่าวเป็นเขตห้ามบิน รวมถึงร้องขอไปยัง UN ด้วย แต่ปรากฏว่า UN ไม่สามารถประกาศเขตห้ามบินในน่านฟ้าภายในได้ จนกระทั่งวันต่อมากองทัพเมียนมาก็เปิดปฏิบัติการทิ้งระเบิดผ่านทางอากาศยาน หลังจากนั้นเพียง 3 วัน ซึ่งสร้างความเสียหายและหวาดกลัวกับพลเรือนอย่างกว้างขวาง”

นักกิจกรรมชาวเมียนมา บอกว่า เขาเป็นห่วงเพื่อนๆนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอีกนับพันคนที่ลี้ภัยอยู่ในเมียนมา แต่พวกเขาก็ยังต่อสู้จนกว่าประชาชนจะได้รับชัยชนะ ได้รับประชาธิปไตยกลับมาเป็นของประชาชน

Related Posts

Send this to a friend