ASEAN

โควิด-19 ทำประชากรในเอเชียอาคเนย์ 4.7 ล้านคนต้องเผชิญความยากจนขั้นรุนแรง

มะนิลา – เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่าในปี 2021 การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ส่งผลให้ประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4.7 ล้านชีวิตต้องเผชิญกับความยากจนขั้นรุนแรง เพราะสูญเสียงานถึง 9.3 ล้านตำแหน่ง เมื่อเทียบกับสถานการณ์ทั่วไปหากไม่เกิดโรคโควิด-19

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ระบุว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดครั้งใหญ่ที่กินเวลานานกว่า 2 ปี โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแตะร้อยละ 5.1 ในปีนี้ หลังจากประชาชนเกือบร้อยละ 60 ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ซึ่งทำให้เศรษฐกิจหลายภาคส่วนสามารถกลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง

แม้ว่าการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นสำหรับปี 2022 แต่รายงานระบุว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเปราะบาง และหลายครัวเรือนยังเผชิญการสูญเสียรายได้มหาศาล

มาซาสึกุ อะซาคาวา ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย กล่าวว่า การระบาดครั้งใหญ่นำไปสู่การว่างงานในวงกว้าง ความเหลื่อมล้ำที่เลวร้ายลง และความยากจนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้หญิง แรงงานอายุน้อย และผู้สูงอายุ

กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ แรงงานไร้ฝีมือ ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกและเศรษฐกิจนอกระบบ ตลอดจนธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีตัวตนทางดิจิทัล

ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียยังสนับสนุนให้รัฐบาลในภูมิภาคลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีนวัตกรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปรับใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

รายงานยังเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนงานสาธารณสุข ในด้านการดูแล การเฝ้าระวังโรค และการรับมือกับการระบาดใหญ่ในอนาคต พร้อมชี้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจขยับขึ้นได้อีก 1.5 จุด หากการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของภูมิภาคมีสัดส่วนแตะร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพี (GDP)

นอกจากนั้นยังได้แนะนำให้ประเทศต่างๆ ปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและผลิตภาพ อาทิ ลดความซับซ้อนของกระบวนการทางธุรกิจ ลดอุปสรรคทางการค้า และส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดเล็กปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมเสริมว่ารัฐบาลควรรักษาความรอบคอบด้านการเงิน เพื่อลดการขาดดุลและหนี้สาธารณะ รวมทั้งปรับการบริหารจัดการภาษีให้ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายฐานภาษี
ขณะเดียวกัน

รายงานยังเตือนถึงความท้าทายหลายประการในภูมิภาค ได้แก่ การอุบัติของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ อัตราดอกเบี้ยที่ตึงตัวในทั่วโลก การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

ที่มา: สำนักข่าวซินหัว

Related Posts

Send this to a friend