ชป.แถลงผลจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 พร้อมเดินหน้ารับมือฤดูฝนปี 2565
กรมชลประทาน แถลงข่าว “สรุปการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 และเตรียมรับมือฤดูฝน ปี 2565” หลังการจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่ผ่านมา เป็นไปตามแผนฯที่วางไว้ พร้อมเดินหน้าบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนอย่างเต็มศักยภาพ ตามมาตรการรับมือฤดูฝน 13 มาตรการของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)
เช้าวันนี้(9 พ.ค. 65)ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการแถลงข่าว “สรุปการบริหารจัดการน้ำ
ฤดูแล้งปี 2564/65 และเตรียมรับมือฤดูฝน ปี 2565” โดยมีนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน
ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมแถลงข่าว พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และนายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมงาน ก่อนทำพิธีปล่อยคาราวานเครื่องจักรกลช่วยเหลือประชาชนในช่วงฤดูฝน ผ่านระบบ Video Conference ไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ และถ่ายทอดสดผ่านเพจ Facebook กรมชลประทาน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมานี้ ผลการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร รวมไปถึงการควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลักต่างๆ เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้ง โดยปฏิบัติตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 ทั้ง 8 มาตรการอย่างครบถ้วน อีกทั้งยังมีปริมาณน้ำสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2565 ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“สำหรับการจัดสรรน้ำในภาพรวมทั้งประเทศ พบว่ามีการใช้น้ำไปทั้งสิ้น 22,998 ล้าน ลบ.ม. (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศจัดสรรไว้รวมทุกกิจกรรม 22,280 ล้าน ลบ.ม. สำรองน้ำต้นฤดูฝน 15,557 ล้าน ลบ.ม.) เกินแผนที่ตั้งไว้เล็กน้อย ด้านผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกรวมกว่า 8.11 ล้านไร่ (แผนวางไว้ 6.41 ล้านไร่) ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าปีนี้เราส่งน้ำเกินแผนไปประมาณ 718 ล้าน ลบ.ม. แต่เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้เพิ่มอีก 1.7 ล้านไร่ ซึ่ง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ ได้ขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรให้ชะลอการทำนาปรัง เนื่องจากมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ แต่ในฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ได้อย่างเต็มศักยภาพ ด้วยการจัดสรรน้ำอย่างประณีต ทำให้พี่น้องเกษตรกรในเขตชลประทานมีรายได้จากการเพาะปลูกพืช ส่วนน้ำสำรองต้นฤดูฝนที่เราคาดการณ์ไว้ว่าจะต้องสำรองประมาณ 15,557 ล้าน ลบ.ม. ปรากฏว่าในวันเริ่มต้นฤดูฝน วันที่ 1 พ.ค. 65 เรามีน้ำต้นทุนอยู่ 19,950 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 4,393 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าเป็นกำไร นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ที่จนถึงขณะนี้มีการจ้างงานไปแล้วกว่า 74,000 คน” นายประพิศฯ กล่าว
ในส่วนของสถานการณ์ฤดูฝนของประเทศไทย ปี 2565 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปีนี้จะเริ่มประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งใกล้เคียงปกติและจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2565 โดยปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนตกมากกว่าค่าปกติร้อยละ 3 ซึ่งต่ำกว่าปี 2564 ที่ผ่านมา ที่มีฝนตกสูงกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 8 ทั้งนี้ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคมจะเป็นช่วงที่ฝนจะตกน้อย หลังจากนั้นฝนจะตกชุกหนาแน่นในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน
สำหรับแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี 2565 กรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำ โดยส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วงหรือปริมาณฝนตกน้อยกว่าคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่สำคัญได้วางแผนบริหารจัดการน้ำภายใต้มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ทั้ง 13 มาตรการ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 โดยได้เตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัย ด้วยการกำหนดวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำในลำน้ำ กำหนดคน กำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ ที่อาจจะได้รับผลกระทบ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานจังหวัด ร่วมกันติดตามและวิเคราะห์หรือคาดการณ์สถานการณ์น้ำในลำน้ำ การจัดสรรทรัพยากร เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกล รถขุด รถแทรกเตอร์ หรือเครื่องมือต่างๆ ให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา โดยในวันนี้ได้มีการปล่อยคาราวานเครื่องจักรกลและเครื่องมือต่างๆ ที่ประจำอยู่ที่ศูนย์บริหารเครื่องจักรกลที่ 1-7 ของสำนักเครื่องจักรกล จำนวนรวม 5,382 หน่วย ออกไปเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศตลอดช่วงฤดูฝนนี้
กรมชลประทาน มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนต่อเนื่องไปจนถึงฤดูแล้งอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้พี่น้องประชาชนและเกษตรกร ได้มีน้ำใช้ในทุกกิจกรรมตลอดทั้งปีตามศักยภาพที่มีอยู่ ซึ่งการดำเนินงานต่างๆของกรมชลประทานจะสำเร็จไม่ได้เลย หากขาดความร่วมมือร่วมใจจากพี่น้องประชาชน เกษตรกร รวมถึงทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำให้การบริหารจัดการน้ำสำเร็จตามแผนที่วางไว้ จึงขอขอบคุณทุกภาคส่วนมา ณ โอกาสนี้