AROUND THAILAND

เครือข่ายหนี้สินชาวนาฯ บุกกองทุนฟื้นฟูฯ

เรียกร้องรัฐบาลจัดการปัญหาหนี้สินเกษตรกร

ชาวนาจากหลายจังหวัด นำโดยเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ส่วนหนึ่งยังคงปักหลักค้างคืนหน้ากระทรวงการคลัง ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา อีกจำนวนหนึ่งเดินเท้ามุ่งหน้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยข้อเรียกร้องที่สำคัญ คือ อุ้มหนี้เกษตรกรให้เข้าสู่กระบวนการการจัดการหนี้สินของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ กฟก. , ลดหนี้ของผู้เสียชีวิตเหลือ 25% ปลดหนี้ให้กับเกษตรกรสมาชิก กฟก. กรณีที่ตาย พิการ ทุพพลภาพ ชราภาพ เจ็บป่วยเป็นโรค เหลือไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ ตามที่ระบุไว้ใน พ. ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ได้บัญญัติไว้ช่วยเหลือเกษตรกร และขอให้ตรวจสอบการทุจริตของกองทุน กฟก.

นายชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หาก ครม. มีมติเห็นชอบ จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ในกลุ่มแรกที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน คือ เสี่ยงต้องการถูกยึดทรัพย์ บังคับคดีได้ จำนวน 50,621 ราย โดยกองทุนฟื้นฟูฯ จะชำระหนี้แทนเกษตรกรในอัตรา 50% ของหนี้เงินต้น จำนวน 4,600 ล้านบาทโดยประมาณ รวมค่าใช้จ่ายดำเนินคดี ซึ่งงบประมาณดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่เกษตรกรที่จะได้รับการชำระหนี้แทน ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตากหลักเกณฑ์ และชำระหนี้ต่อกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ครบถ้วน และเนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการระยะยาวที่จะช่วยเหลือสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ หากมีมติ ครม.แล้วจะสามารถช่วยเหลือชาวนาได้ต่อเนื่องถึง 300,000 ราย

นายชรินทร์ ยังกล่าวถึงต้นทุนการผลิตข้าวในปัจจุบันว่า อยู่ที่เกวียนละ 8,000-8,500 บาท ขณะที่ราคาข้าวเปลือกในตลาดอยู่ที่ 6,000 บาท นี่คือต้นเหตุของการเป็นหนี้ ไม่เข้าใจว่าแม้แต่น้ำดื่มรัฐบาลยังคุมราคาได้ แต่ทำไมปุ๋ยหรือสารเคมีที่เกษตรกรต้องใช้ รัฐกลับไม่ควบคุมอะไรเลย ราคาผลผลิต ราคาสินค้าเกษตรก็ไม่ดูแล กลไกการตลาดใช้ไม่ได้กับการเกษตรไทย หรือเพราะพืชและสัตว์ถูกผูกขาดไปหมดแล้ว ประกาศว่าประเทศไทยเป็นครัวของโลก แต่กลับไม่เคยหันมาดูพ่อครัวแม่ครัว ว่าเป็นอยู่ยังไง ยากลำบากแค่ไหน

นายชรินทร์ เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันหนี้ที่เกษตรกรต้องแบกรับ มีภาระดอกเบี้ยอย่างน้อยร้อยละ 8 ต่อปี เมื่อกู้เงินมา ดอกเบี้ยเดินทันที แต่กว่าจะได้ผลผลิตต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 5 เดือน รัฐบาลจึงควรปรับแผนและทิศทางการพัฒนาเกษตรไทยใหม่ อย่าดันทุรังแก้เป็นจุดๆ ไม่จบไม่สิ้น ต่อให้ปลดหนี้ชาวบ้านเป็นศูนย์ ก็เกิดหนี้ เพราะโครงสร้างการผลิตยังเป็นแบบเดิม

Related Posts

Send this to a friend