กอนช. สั่งจับตา “แม่น้ำเจ้าพระยา – ป่าสัก” จากฝนตกหนักภาคเหนือตอนล่าง
กรมชลประทานเตรียมปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 2,700-2,800 ลบ.เมตร/วินาที ด้านเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทยอยปรับเพิ่มเป็น 2 เท่า หลังฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ทุ่งบางระกำหน่วงน้ำยมจนเต็มความจุ และยังมีน้ำหลากจากแม่น้ำปิง ไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่ม
(4 ต.ค. 65) นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ลงนามในประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 47/2565 เรื่อง เฝ้าระวังระดับน้ำ ในแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา โดยระบุว่า
จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ช่วงวันที่ 3-9 ต.ค. 65 อิทธิพลจากร่องมรสุม เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ มีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประเมินฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ช่วงวันที่ 3-9 ต.ค. 65 ประมาณ 400 ล้าน ลบ.เมตร ส่งผลให้กรมชลประทานจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และเพื่อรักษาเสถียรความมั่นคงของตัวเขื่อน โดยจะทยอยปรับเพิ่ม จากอัตรา 400 ลบ.เมตร/วินาที เป็นอัตรา 800 ลบ.เมตร/วินาที
การปรับเพิ่มในอัตราดังกล่าว จะทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40 – 1.00 เมตร และบริเวณท้ายเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40 – 0.60 เมตร
ส่วนจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.25 – 0.50 เมตร ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 3,300 – 3,500 ลบ.เมตร/วินาที ส่งผลให้เกิดน้ำอัดเท้อไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำน้อย ทำให้ระดับแม่น้ำน้อยเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับลุ่มน้ำยมเกิดน้ำป่าไหลหลาก แม้จะมีการหน่วงน้ำ โดยผันน้ำเข้าไปเก็บในทุ่งบางระกำ แต่ก็เต็มความจุแล้ว ประกอบกับมีน้ำหลากจากแม่น้ำปิง ไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น
เพื่อเป็นการลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จาก จ.ชัยนาทถึงสมุทรปราการ จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 2,700-2,800 ลบ.เมตร/วินาที จะส่งผลกระทบให้ระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณ อ.เมืองชัยนาท และมโนรมย์ จ.ชัยนาท และ อ.เมืองอุทัยธานี จ.อุทัยธานี ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 เมตร