POLITICS

‘ชัชชาติ’ ลงนาม MOU กสศ.สร้างหลักประกัน ช่วยเหลือคนด้อยโอกาส

‘ชัชชาติ’ ลงนาม MOU กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สร้างหลักประกัน ช่วยเหลือคนด้อยโอกาส และขาดแคลนทุนทรัพย์

วันนี้ (20 ต.ค.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อดำเนินการพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา สำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พิการ ด้อยโอกาส และการพัฒนาคุณภาพครู สถานศึกษา ณ ห้องประชุมเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

นายชัชชาติ กล่าวว่า การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เป็นหน้าที่ กทม.ที่ต้องดูแลเด็กชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนสังกัด กทม. 437 แห่ง หากเด็กเหล่านี้หลุดจากระบบการศึกษา โอกาสจะกลับคืนมายาก การพัฒนาต่อในระดับอุดมศึกษาก็จะไม่ดี กทม.จึงต้องดูแลระบบการศึกษาไม่แพ้กับโครงสร้างพื้นฐานอื่น

สัญญาประชาคม (Social Contract) เป็นเรื่องสำคัญ กทม.มีพันธสัญญาต้องดูแลให้ประชาชนได้รับความเท่าเทียมกันทางการศึกษา และสาธารณสุข เม็ดเงินที่ลงทุนกับเด็กับเด็ก หากเด็กมีศักยภาพที่ดี อนาคตจะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองในการสร้างงาน สร้างอาชีพ จ่ายภาษีให้เมือง ดูแลคนอื่นต่อไป

“กองทุนนี้น่าจะเป็นกองทุนที่มียอดทะลุเป้า มากกว่าการลงทุนในหุ้นไหน ๆ เพราะการลงทุนในเด็กผลตอบแทนมหาศาล ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม”

กทม.ควรจะร่วมกองทุนนี้นานแล้ว เพราะหลายคนมักคิดว่า กทม.พัฒนาแล้ว ไม่มีเด็กที่หลุดจากระบบ แต่ กทม.กลับเป็นเมืองที่ขาดโอกาสมากที่สุด บางที กทม.ไม่เห็น เพราะเข้าไม่ถึง มีเด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษามากกว่า 6,000 คน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาค กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 ในมาตรา 5 กำหนดให้ กสศ.ร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันเรื่องการศึกษาอย่างเท่าเทียมภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ 5 ข้อ ได้แก่

1.สนับสนุนพัฒนานวัตกรรมการคัดกรองความยากจน และสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้ กทม.เป็นต้นแบบทำงานให้กับจังหวัดอื่น ๆ เป็นความหวังให้พ่อแม่มีความตั้งใจให้บุตรหลานเป็นอนาคตของครอบครัวและประเทศชาติ

2.ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาให้เด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้

3.สนับสนุนการพัฒนาครู สถานศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการและความหลากหลายของเด็กและเยาวชน

4.เปิดโอกาสให้ กทม.และ กสศ.บูรณาการด้านข้อมูลและระบบสารสนเทศ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนสามารถสนับสนุนเรื่องเงินบริจาค และเงินระดมทุนในอนาคตได้

5.ร่วมกันสนับสนุนข้อเสนอเชิงนโยบาย ขยายผลการดำเนินงานให้ยั่งยืนทั้งใน กทม. ระดับชาติ และระดับนานาชาติต่อไป

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวปาฐกถาพิเศษ “การพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา กับการพัฒนาที่ยั่งยืน” แสดงปาฐกถาพิเศษ ระบุว่า การพัฒนาต่าง ๆ หัวใจอยู่ที่คนและบริบทแวดล้อม เช่น ครอบครัว สังคม และการศึกษา จากสถานการณ์โควิค-19 ที่ผ่านมา กสศ.พบว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้ที่มีรายได้น้อย พบกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำสุด 10% มีการค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเฉลี่ยปีละ 6,600 บาท ส่วนกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด 10% มีค่าใช้จ่ายการทางการศึกษาเฉลี่ยปีละ 78,000 บาท

ทั้งนี้เรื่องความเสมอภาคมีหลายมิติ แต่สิ่งสำคัญคือการเข้าถึงการศึกษา เหมือนคำพูดของชาวแอฟริกาว่า “การเลี้ยงเด็กเป็นงานของทั้งหมู่บ้าน” คือ ต้องสนับสนุนสถาบันครอบครัวควบคู่ไปกับสถาบันการศึกษา 5 ด้าน ได้แก่

1.ความมั่นคงทางอาหารของเด็กและเยาวชน
2.ความมั่นคงของสถาบันครอบครัว
3.ความปลอดภัยในการเดินทางไปโรงเรียนของเด็ก
4.ความปลอดภัยของสถานศึกษา เด็กและครู
5.ความพร้อมของชุมชนและท้องถิ่นในการช่วยดูแลซึ่งกันและกัน

เหล่านี้เป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความเสมอภาค สำหรับทุนการศึกษาที่ กสศ.มอบให้เด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาต้น จะมีการติดตามความคืบหน้าของเด็กแต่ละคนถึง 20 ปี ทั้งเรื่องการเรียน สุขภาพ และบริบทแวดล้อม เพื่อนำข้อมูลมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความยั่งยืนและความเสมอภาคทางการศึกษาต่อไป

Related Posts

Send this to a friend