นายกฯ ร่วมถกอาเซียน กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ ขับเคลื่อนสู่ความทั่วถึง-ยั่งยืน ร่วมมือแก้ปัญหาระดับโลก
วันนี้ (26 พ.ค. 68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งตรงกับเวลา 08.00 น. ตามเวลาประเทศไทย การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นที่ห้องประชุม Conference Hall 1 ชั้น 3 ศูนย์การประชุม Kuala Lumpur Convention Center (KLCC) โดยมีมาเลเซียเป็นเจ้าภาพภายใต้แนวคิดหลัก “การมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง และความยั่งยืน” (Inclusivity and Sustainability)
การประชุมดังกล่าวมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ชาติเข้าร่วม ประกอบด้วย สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา นอกจากนี้ ดร. เกา กิม ฮวน เลขาธิการอาเซียน และนายกรัฐมนตรีติมอร์-เลสเต ได้เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ด้วย
ก่อนเริ่มการประชุม ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้เชิญผู้นำอาเซียนถ่ายภาพร่วมกัน จากนั้นที่ประชุมได้หารือในประเด็นต่างๆ รวมถึงทิศทางการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้มั่นคงและมีเสถียรภาพ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก ตลอดจนแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ของอาเซียนกับภาคีภายนอก
นางสาวแพทองธาร กล่าวถึงความสำคัญของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ว่า จัดขึ้นในช่วงที่ภูมิทัศน์โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่นโยบายที่แข็งกร้าวและมุ่งผลประโยชน์ตอบแทนมากขึ้น ซึ่งเป็นการถอยห่างจากแนวทางความร่วมมือพหุภาคีไปสู่การปฏิบัติฝ่ายเดียว ผู้นำไทยระบุว่า มาตรการด้านภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อพลวัตทางการค้าโลกและแนวโน้มเศรษฐกิจของอาเซียนโดยรวม พัฒนาการเหล่านี้ถือเป็นความท้าทายต่อบรรทัดฐานโลก ทำให้อาเซียนต้องประเมินยุทธศาสตร์อีกครั้งเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นร่วมกัน ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณความพยายามของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในการส่งเสริมจุดยืนอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน
เพื่อรับมือกับภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ผู้นำไทยเน้นย้ำว่า อาเซียนจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานแบบครบวงจร และทำงานร่วมกันมุ่งสู่การบูรณาการระดับภูมิภาคที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อให้อาเซียนยังคงมีบทบาทสำคัญ น่าดึงดูด และสามารถแข่งขันได้ จึงต้องสนับสนุนการค้าภายในอาเซียน ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีอยู่ให้เต็มที่ พิจารณาจัดทำ FTA กับภาคีใหม่ๆ ควบคู่กับการส่งเสริมความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ MSMEs ให้สามารถต่อสู้กับความท้าทายในอนาคต
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ประเทศไทยสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อระบบการค้าพหุภาคีที่โปร่งใส เสรี ยุติธรรม และมีกฎเกณฑ์ที่คาดการณ์ได้ โดยประเทศไทยจะเร่งรัดการจัดทำความตกลงกรอบเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (Digital Economy Framework Agreement: DEFA) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 เพื่อปลดล็อกการเติบโตครั้งใหม่ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในอนาคตและแสดงให้เห็นว่าอาเซียนไม่หยุดนิ่งในการแสวงหาความก้าวหน้า พร้อมตอบสนองต่อภูมิทัศน์การค้าและการลงทุนระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงเสมอ
นอกจากนี้ เพื่อให้บรรลุการบูรณาการที่มีประสิทธิผล อาเซียนต้องส่งเสริมกลไกการเจรจาจากทั้งภายในและภายนอกที่ตรงไปตรงมา ครอบคลุม สร้างสรรค์ และมุ่งเน้นการแก้ปัญหา โดยอาศัยการเสริมสร้างความเป็นศูนย์กลางและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันบนพื้นฐานที่มั่นคง ยึดมั่นตามหลักการอาเซียน ให้ความสำคัญในเรื่องเดียวกัน และขับเคลื่อนประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของพลเมืองอาเซียนอย่างแท้จริง ประเทศไทยจะยังคงส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างแข็งขัน โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับครอบครัวและหุ้นส่วนอาเซียน เพื่อให้แน่ใจว่าอาเซียนจะบรรลุ “การมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมและยั่งยืน” ตามหัวข้อหลักของอาเซียนในปีนี้
นางสาวแพทองธาร ชี้ว่า เพื่อสร้างอนาคตที่ครอบคลุมสำหรับภูมิภาค ประชาคมอาเซียนจะต้องเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้พลเมืองอาเซียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และต้องเพิ่มความพยายามปกป้องความมั่นคงของมนุษย์ในทุกมิติ ทั้งด้านสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติด การหลอกลวงทางออนไลน์ หมอกควันข้ามพรมแดน และภัยพิบัติต่างๆ เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจว่าการคุ้มครองประชาชนไม่อาจล่าช้าได้
ขณะเดียวกัน อาเซียนควรริเริ่มส่งเสริมเครื่องยนต์สำคัญที่จะสนับสนุนการเติบโตของอาเซียนร่วมกัน เช่น ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคส่วนต่างๆ ของสังคม และความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้นในการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานข้ามพรมแดน ปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในการเดินทางระหว่างกัน และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลายร่วมกัน ตามข้อริเริ่มของไทยเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในอาเซียน
ผู้นำไทยยังเสนอว่า อาเซียนควรมุ่งเน้นแนวทางการสร้างความยั่งยืนในทุกภาคส่วนและในชีวิตประจำวัน เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืน พร้อมสนับสนุนนโยบายที่ส่งเสริมความยั่งยืนสำหรับอนาคต ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน จะแสดงบทบาทนำผลักดันอาเซียนสีเขียวให้มีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในความปรารถนาที่ระบุไว้ใน “วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ปี ค.ศ. 2045” (ASEAN Community Vision 2045) โดยเน้นการเงินสีเขียว การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานสะอาด และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ได้ร่วมนำ “วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ปี ค.ศ. 2045” มาขับเคลื่อนอาเซียนไปสู่อนาคตร่วมกัน และเชื่อมั่นว่าวิสัยทัศน์ใหม่นี้จะทำให้อาเซียนเติบโต นำไปสู่สันติสุข ความเป็นหุ้นส่วน และความก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ภายหลังการประชุม ผู้นำอาเซียนยังได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ 9 ฉบับ ประกอบด้วย ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการครบรอบ 10 ปี ของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2045 “อาเซียนที่เข้มแข็ง มีนวัตกรรม มีพลวัติและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” แผนยุทธศาสตร์ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน แผนยุทธศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แผนยุทธศาสตร์ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน แผนยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงอาเซียน กรอบความยั่งยืนสำหรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์อาเซียน และปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความมุ่งมั่นเพื่อความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านยา