POLITICS

“อนาคตใหม่” จี้รัฐออก กม.ป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับคนสูญหาย

นางสาวพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ และนายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ ร่วมกันแถลงข่าวหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ยืนยันว่า สารพันธุกรรมชิ้นส่วนกระดูกที่พบใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน เป็นชิ้นส่วนของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ แกนนำกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่หายตัวไปนานกว่า 5 ปี หลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุม และอ้างว่าปล่อยตัวแล้ว

นายณัฐพล เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้ เพราะการเสียชีวิตของนายบิลลีขณะนี้ชัดเจนว่าเป็นการฆาตกรรม ซึ่งนายณัฐพลตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงหนึ่งของคดีนี้ถูกปฏิเสธจากบางหน่วยงานรัฐ ต้องขอบคุณดีเอสไอที่ช่วยกันทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏ

“คดีของบิลลีได้รับความสนใจจากองค์กรสากลมากมาย มีการตั้งข้อสงสัยว่าทำไมบิลลี่ถึงหายไป เป็นเพราะการออกมาปกป้องหมู่บ้าน ที่ทำกินของตัวเอง และเรียกร้องปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือไม่ จึงขอเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าให้เกิดการสาบสูญ สูญหายเกิดขึ้นอีก ขอให้บิลลี่ เป็นกรณีสุดท้าย”นายณัฐพลกล่าว

ขณะที่นางสาวพรรณิการ์ มองว่า กรณีของบิลลี่ ไม่ได้สะท้อนเฉพาะปัญหาเรื่องสิทธิที่ดินทำกินและการประกาศที่ป่าทับที่ประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น แต่ปัญหาใหญ่คือ เรายังไม่มีกฎหมายหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพพอกับการจัดการการซ้อมทรมานและการบังคับคนสูญหาย หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเกือบจะมี ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับบุคคลสูญหาย ซึ่งมีการผลักดันมาตั้งแต่ปี 2557 แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถออกเป็นกฎหมายได้

“พรรคอนาคตใหม่ยืนยันว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้กฎหมายสำคัญ ที่จะต้องผลักดันต่อไปอย่างเต็มที่ ไม่ใช่แค่เพื่อสิทธิเสรีภาพบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เพื่อเกียรติภูมิประเทศ ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลตามที่เราได้ให้สัตยบรรณไว้”นางสาวพรรณิการ์กล่าว

ทั้งนี้นายณัฐพล ยังได้รับหนังสือแถลงการณ์ของเครือข่ายกะเหรี่ยงและชาวเล เรียกร้องให้รัฐเร่งหาฆาตรกรและผู้อยู่เบื้องหลังการฆาตรกรรมมาลงโทษให้ได้ สร้างสวัสดิภาพและคุ้มครองครอบครัวของบิลลี่อย่างเป็นรูปธรรม โดยขอให้เร่งดำเนินคดีการวางเพลิงเผาทรัพย์ชุมชนบ้านใจแผ่นดิน-บางกลอยบนกว่า 100 หลัง รวมถึงบ้านปู่คออี้ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ขณะเดียวกันขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 และ 2 มิถุนายน 2553 ในการคุ้มครองวิถีชีวิตกะเหรี่ยงและชาวเลอย่างเป็นรูปธรรม และคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้วยการออกกฎหมายว่าด้วยการกระทำทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญ ตามหลักสากลของสหประชาชาติฯ

Related Posts

Send this to a friend