นายนิวัติชัย แจ้งไพร ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าคุรุสภา และนายอารีย์ สืบวงศ์ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานฯ แถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่สำนักงาน สกสค. มีมติฟ้าผ่าเลิกจ้างพนักงานกว่า 1,000 คน มีผล 1 ส.ค. นี้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกมาให้เหตุผลว่าองค์การค้า คุรุสภา ขาดทุนสะสมมาหลายปี จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเพื่อให้อยู่รอด ไม่ให้กระทบกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และองค์กรอื่นที่เป็นหน่วยงานหลักภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
นายนิวัติชัย ยอมรับว่าองค์การฯ ขาดทุนสะสมมานานหลายปีจริง แต่ข้อเท็จจริงที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไม่เคยออกมาพูดก็คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กร โดยเกิดจากความคิดของคนที่รัฐบาลส่งเข้ามาเพื่อบริหารจัดการ
สำหรับข้ออ้างที่บอกว่าองค์การขาดทุนนั้น ขอชี้แจงว่าองค์การค้ามีภารกิจและรายได้หลักจากการค้าสิ่งพิมพ์ และขายหนังสือแบบเรียนต้นฉบับของสสวท. และสพฐ. กระทรวงศึกษาธิการให้กับโรงเรียนทั่วประเทศก่อนเปิดภาคเรียนในทุกปี ซึ่งรายได้ตรงนี้ถือเป็นรายได้ที่แน่นอน ทำรายได้ให้กับองค์การ จึงไม่ควรขาดทุน แต่ปัญหาคือมีการนำงานไปว่าจ้างเอกชนภายนอกพิมพ์ โดยคิดค่าจ้างเป็น 2 เท่า หนังสือที่ส่งขายในราคาต่ำกว่าทุนแบบนี้จะไม่ให้ขาดทุนได้อย่างไร
การกระทำลักษณะนี้เป็นการเปิดช่องว่างให้เกิดการทุจริต ที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนมากซึ่งสหภาพฯ ได้ส่งเรื่องไปที่ DSI และป.ป.ช. สอบสวนมาตลอด ซึ่งบางคดีถูกชี้มูลความผิดไปแล้ว แต่ผู้ที่รับผิดชอบกลับไม่มีการเอาผิดให้ถึงที่สุด
ล่วนข้ออ้างที่บอกว่าองค์การแบกรับภาวะและขาดทุนมาหลายปีมีหนี้สะสม กว่า 5,700 ล้านบาทนั้นก็ยอมรับว่าขาดทุนจริง แต่ถ้าเข้าไปตรวจสอบจะพบว่าหนี้ทั้งหมดเป็นการสร้างหนี้ของ ผอ.องค์การค้าฯ แต่ละคนที่เข้ามาบริหาร ตั้งแต่ปี2544 โดยนำเงินที่ขอกู้มาจ่ายค่าจ้างพิมพ์แบบเรียนที่จ้างเอกชนภายนอกพิมพ์ ซึ่งเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ จึงทำให้ขาดวินัยทางการเงิน องค์การฯ ต้องมาแบกรับภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น
ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่ามีพนักงานและเจ้าหน้าที่เยอะ จึงต้องการลดงานค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าจ้างพนักงานนั้น ต้องไปตรวจสอบว่าค่าใช้จ่ายกับสัดส่วนของงานและรายได้สอดคล้องกันกับยอดการจำหน่ายและกำไรที่ควรจะเป็นหรือไม่ และหากข้ออ้างที่บอกว่ามีจำนวนคนล้นงานแต่เหตุใดจึงนำงานไปจ้างเอกชนภายนอกพิมพ์ และหากพนักงานเจ้าหน้าที่ล้นงานจริง ทำไมต้องจ้างลูกจ้างจากบริษัทเอาท์ซอส์ท ให้ส่งลูกจ้างเพิ่มเข้ามาทำงานอีก 300 กว่าคน ดังนั้นนี่จึงเป็นสาเหตุที่สวนทางกับความเป็นจริง จึงเห็นว่าหากมีการตัดปริมาณงานที่มีอยู่ไปให้เอกชนพิมพ์ก็เท่ากับการบริหารจัดการปริมาณงานกับการบริหารกำลังคนไม่สมดุลกัน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความบกพร่องในการบริหารจัดการเป็นอย่างมาก
นานนิวัติชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า องค์การค้า สกสค. ไม่เคยได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนใดใดจากสำนักงาน สกสค. และรัฐบาลเลยแม้แต่บาทเดียว แต่ยังคงรับหน้าที่ทำภารกิจที่กระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้โดยเฉพาะการตรึงราคาหนังสือเรียนให้มีระดับที่ไม่สูงมากตั้งแต่ปี 2552 องค์การค้าก็ต้องทำการแข่งขันในตลาดการจำหน่ายหนังสือเรียน
สิ่งที่เกิดขึ้นกับพนักงานและองค์การฯ ในครั้งนี้มีความผิดปกติเป็นอย่างมากและเห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการและสำนักงาน สกสค. ใช้โอกาสและวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 มาเป็นข้ออ้างหลักในการเลิกจ้างพนักงานเกือบ 1,000 คน จึงอยากเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องทบทวนและตั้งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นกับองค์การฯ ในครั้งนี้ และจะมาใช้เหตุผลเพื่อตัดภาระค่าใช้จ่ายมาเป็นเหตุผลในการเลิกจ้างไม่ได้ เพราะปัญหาที่แท้จริงเกิดจากการทุจริตภายในของบอร์ดผู้บริหาร
“คำสั่งเลิกจ้างฟ้าผ่าครั้งนี้ เปรียบเหมือนคำสั่งประหารชีวิตให้พนักงาน 961 ชีวิต ซึ่งกลัวจะเป็นตราบาปทำให้หลายคนขาดสติจนอาจตัดสินใจคิดสั้นฆ่าตัวตายได้”
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทันทีที่มีคำสั่งเลิกจ้างไม่ให้พนักงาน 961 คนมาทำงาน แต่สำนักงาน สกสค. กลับทำสัญญาว่าจ้าง ผอ.องค์การค้าคนใหม่เข้ามาทำงาน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าที่เลิกจ้างพนักงานชุดเดิมเพื่อต้องการล้างกระดานให้ลูกจ้างชุดใหม่เข้ามาทำงานแทนโดยใช้เงินเดือนเป็นตัวตั้ง
Send this to a friend